กรณีปัญหาการก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร ของ 8 โครงการใหญ่พัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ ป้องกันน้ำท่วม ในงบประมาณ 545 ล้านบาท ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เกิดปัญหา 2 หจก. ก่อสร้างไม่เสร็จ และไม่ก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบันสร้างความเดือดร้อน กระทั่ง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เซ็นยกเลิกสัญญาไปแล้ว 6 โครงการ และอยู่ระหว่างจี้ให้ยกเลิกสัญญาทั้งหมด 8 สัญญา ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เครือข่ายเมืองน้ำดำบุกร้อง ‘ชูศักดิ์’ เชือดก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร ‘ภัยความสงบสุข’

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ส่วนกลาง ลงพื้นที่เกาะติดปัญหาการก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร 8 โครงการใหญ่พัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ ป้องกันน้ำท่วม ในงบประมาณ 545 ล้านบาท ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เกิดปัญหา 2 หจก. ก่อสร้างไม่เสร็จ และไม่ก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งยังทำให้ชาวบ้านที่อาศัยในจุดก่อสร้างหวาดผวาจะเกิดน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก แม้ว่า นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง จะประกาศยกเลิกสัญญาไปแล้ว 6 โครงการ และจะทยอยยกเลิกสัญญาทั้งหมด 8 โครงการ ก็ยังไม่ทำให้ชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างสบายใจเพราะขาใหญ่ยังคงไปประมูลงานกับหน่วยงานอื่นได้ ตราบใจที่กรมบัญชีกลางไม่เสนอความเห็นต่อปบักกระทรวงการคลัง แจ้งเวียนห้างขาใหญ่ก็จะทำให้หน่วยงานอื่นได้รับผลกระทบ จึงยังคงออกมาเรียกร้องและให้ สำนักงาน ปปช.- สตง. ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าสอบสวนก่อนที่จะทำให้งบประมาณแผ่นดินเสียหายไปมากกว่านี้

ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ส่วนกลาง ได้ลงพื้นที่การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมลำน้ำพาน ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ การก่อสร้างมีระยะทางความยาว 562 เมตร รายละเอียดจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ ทราบว่า โครงการนี้เริ่มงาน 23 กันยายน 2564 หมดสัญญา วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ปรับสัญญาเป็น 0 บาท ขยายเวลาให้ถึง 10 เมษายน 2567 พบว่าจนวันที่หมดสัญญา โครงการนี้สามารถทำงานได้เพียง 15% แต่ได้เบิกเงินไปแล้ว จำนวน 3 ครั้ง เป็นเงิน จำนวน 13,737,500 บาท คงเหลือ 30,752,500 บาท งบประมาณทั้งสิ้น 44,490,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ วันนี้ทีมข่าวได้พบกลุ่มแรงงานกำลังทำการเก็บอุปกรณ์ตอกเสาเข็มเป็นปั้นจั่นขึ้นรถสิบล้อหัวลาก จากการพูดคุยทราบว่าแรงงานทั้งหมดที่เข้ามาทำงานเป็นกลุ่มแรงงานจังหวัดยโสธร

นายอุทัย อายุ 54 ปี บ้านนาจาน อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร กล่าวว่าตนเป็นกลุ่มแรงงานที่เข้ามารับจ้างกับ หจก.เฮงนำกิจ เป็นกลุ่มที่ 3 ที่นำเครื่องมือเข้ามาทำงาน จุดบริเวณหลังตลาดปากพาน ริมตลิ่งลำน้ำพานในแนวเทศบาลตำบลลำพาน ทำหน้าที่ตอกปั้นจันเสาเข็มที่ได้รับค่าจ้างในราคาต้นละ 1,380 บาท ผู้ว่าจ้าง หจก.เฮงนำกิจ ได้ให้โควต้ากลุ่มแรงงานที่เข้ามาทำงานตอกเสาเข็ม เข้าตอกเสาเข็มทั้งหมดเกือบ 1,000 ต้น โดยตกลงว่าจะจ่ายค่าตอกทุกวัน แต่ในระหว่างที่กำลังตอกเสาเข็มได้ 75 ต้น และได้รับเงินมาหมดแล้วหัวหน้างานบอกว่า หจก.เฮงนำกิจ ขาดสภาพคล่อง จึงตัดสินใจเก็บเครื่องจักรออกจากงาน แต่งานนี้แม้จะมีการจ่ายเงินให้แต่ก็ขาดทุนประมาณ 60,000 บาท

“สิ่งที่ขาดทุนคือทุกอย่างต้องกินต้องใช้ทีมงานตอกเสาเข็มก็ต้องมานอนเฝ้าเครื่องจักร หากมีเงินใช้จ่ายพอเพียงการตอกเสาเข็มก็คงไม่นานเพราะจะมีกำลังใจไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแรงงานก่อสร้างหรือผู้ที่เข้ามาติดตามงานแต่นี่ไม่มีเงินจ้างก็จำเป็นต้องเก็บเครื่องมือกลับบ้าน อีกอย่างเป็นเรื่องที่แปลกมากว่าทำไม หจก.ระดับประเทศถึงตกต่ำ แบบนี้ส่วนตัวไม่เชื่อว่าขาดสภาพคล่อง เพราะเป็นห้างฯใหญ่ จึงไม่ขอจะพูดอะไรมากยอมรับเสียใจครอบครัวก็ร้องไห้ทุกวันเพราะจะต้องมาเสียเวลาขาดทุนกับเรื่องแบบนี้”นายอุทัย กล่าวในที่สุด

ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ส่วนกลาง ยังได้เข้าไปติดตามการก่อสร้างบริเวณท้ายงาน ยังคงมีปั้นจันตั้งอยู่แต่ไม่พบกลุ่มแรงงานก่อสร้าง พบสภาพปั้นจั่นเริ่มเอียง เนื่องจากตลิ่งทรุดจากฝนที่ตกลงมาจากการสังเกตยังพบว่าหน้าดินที่มีการก่อสร้างเอาไว้เริ่มพังทลายเป็นระยะรวมกว่า 100 เมตร ทำให้ชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์ว่าการก่อสร้างครั้งนี้กับเงินที่เบิกไป 15% อีกไม่นานเมื่อฝนตกหนักลงมาก็จะทำให้งบที่เบิกไปกว่า 13 ล้านบาทละลายไปไปในลำน้ำพาน ชาวบ้านยังพาไปดูจุดที่พังทลายของหน้าดินงานก่อสร้างด้วย

นายดวง อายุ 61 ปี ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ เพราะมีบ้านอยู่บริเวณใกล้จุดก่อสร้าง เมื่อมีการตอกเสาเข็มทำให้บ้านมีรอยร้าวและพื้นดินหลังบ้านมีดินสไลด์ลงมา ก็ยังไม่ใครมาสอบถามเพื่อที่จะเยียวยาช่วยเหลือ อีกทั้งจากการติดตามความเสียหายจากการก่อสร้างตั้งแต่ทิ้งงานและมีฝนตกลงมาก็เริ่มมีการพังทลายของหน้าดิน ในจุดนี้บริเวณด้านตลาดปากพาน จะเห็นปั้นจั่นเอนลงมาและฝนได้กัดเซาะให้หน้าดินพังทลายเสียหายหลายร้อยเมตรและหากฝนตกลงมาสิ่งที่ทำเอาไว้ก็จะหายไปกับสายน้ำแน่นอนเนื่องจากบริเวณลำน้ำพานแห่งนี้จะรองรับน้ำป่าที่ไหลหลากมาจากทุกสารทิศรวมถึงเขื่อนลำปาว

“ตนรู้สึกเสียดายแผนการก่อสร้าง ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ได้ให้งบประมาณมาก่อสร้างเพราะสร้างเสร็จชาวบ้านจะนอนหลับสบายไม่ตัวกลัวว่าจะมีน้ำป่าไหลหลากมากัดเซาะตลิ่งพังเหมือนในช่วงปี 2560 อีกอย่างงบประมาณนี้ก็ต้องการให้ผู้รับจ้างที่ทิ้งงานรับผิดชอบจ่ายค่าปรับค่าเสียหายเพื่อส่งเงินที่เป็นภาษีของประชาชนกลับคืน หากรัฐราชการไม่ยอมเรียกเงินค่าเสียหายก็จะทำให้ผู้รับจ้างรายนี้ล้มบนฟูกทั้งที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนและงบประมาณแผ่นดินเสียปาวจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสอบสวนปัญหานี้อย่างเร่งด่วนด้วย”นายดวง กล่าวในที่สุด

รายงานแจ้งว่ากระแสการตรวจสอบ โดยเครือข่าย ปปท.ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ เครือข่ายภาคประชาสังคม ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ เริ่มมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ ว่า อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เตรียมจะลงนามล้มสัญญาจ้างกับ หจก.ประชาพัฒน์ และ หจก.เฮงนำกิจ อีก 2 โครงการ ที่จะครบทั้งหมด 8 โครงการเพื่อหาผู้รับจ้างรายใหม่ ขณะที่ชาวบ้านจังหวัดกาฬสินธุ์ เครือข่ายฯที่ร่วมกันตรวจสอบก็ยังคงเรียกร้องให้เปิดเอกสารหลักฐาน การได้มาด้วยสัญญาทางปกครองในวันที่เซ็นสัญญาทั้งหมด 8 โปรเจกต์ใหญ่ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลค่าปรับจากโครงการที่ยกเลิกทั้งหมด ว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองจะเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเท่าไหร่และแผนการเข้าช่วยเหลือประชาชนในผู้ได้รับผลกระทบและกลุ่มแรงงานที่เข้าทำงานแต่ถูกเบี้ยงค่าแรงว่าจะจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง