นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ซึ่งเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง และการเดินทางของประชาชนในการเดินทางสู่ภาคใต้ โดยโครงการนี้มีระยะทาง 420 กิโลเมตร(กม.) งบประมาณการก่อสร้าง 33,982 ล้านบาท ซึ่งเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.66 ได้เปิดให้เดินรถไฟทางคู่ระหว่าง สถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จังหวัดชุมพร รวมระยะทาง 348 กม. ส่วนในช่วงที่ 2 ของสายใต้ ระหว่างสถานีโพรงมะเดื่อ-บ้านคูบัว ระยะทาง 50 กม.และสถานีสะพลี – ด้านเหนือสถานีชุมพร ระยะทาง 12.80 กม. อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยงานโยธาดำเนินการใกล้เสร็จครบทั้งหมด ส่วนงานระบบอาณัติสัญญาณ คืบหน้าแล้ว  58.489% จะเปิดใช้ทางคู่ประมาณเดือน มิ.ย.67 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมความก้าวหน้าของโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ทั้งระบบ ซึ่งแบ่งเป็น 5 สัญญานั้น ขณะนี้ทุกโครงการมีความก้าวหน้าตามลำดับ คาดว่าทุกโครงการจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 67 และมีความพร้อมเปิดให้บริการทางคู่สายใต้ได้เต็มระบบภายในปลายปี 67  มีรายละเอียด ได้แก่ 1. ช่วงนครปฐม – หัวหิน สัญญาที่ 1 (นครปฐม – หนองปลาไหล) ระยะทาง 93 กม. งบประมาณก่อสร้าง 8,198 ล้านบาท ความคืบหน้าผลงาน 98.319% ล่าช้ากว่าแผน 1.681% 2. ช่วงนครปฐม – หัวหิน สัญญาที่ 2 (หนองปลาไหล – หัวหิน) ระยะทาง 76 กม.งบประมาณก่อสร้าง 7,520 ล้านบาท ความคืบหน้า 99.313% ล่าช้ากว่าแผน 0.687%

3. ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. งบประมาณก่อสร้าง 5,807 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 4. ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร สัญญาที่ 1 (ประจวบคีรีขันธ์ – บางสะพานน้อย) ระยะทาง 88 กม. งบประมาณก่อสร้าง 6,465 ล้านบาท ความคืบหน้า 99.245% สร้างล่าช้ากว่าแผนงาน 0.755 % และ 5. ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร สัญญาที่ 2 (บางสะพานน้อย – ชุมพร) ระยะทาง 79 กม. งบประมาณก่อสร้าง 5,992 ล้านบาท ความคืบหน้า 99.425% ล่าช้ากว่าแผนงาน 0.575 %

ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ให้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานีรถไฟเพชรบุรี ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน โดยสถานีเพชรบุรี (กม.150+500) ก่อสร้างคืบหน้า 90.20% สำหรับสถานีเพชรบุรีใหม่ อยู่ด้านใต้ติดกับอาคารสถานีเพชรบุรีหลังเก่า ซึ่งเปิดใช้งานขายตั๋วรถไฟแล้วตั้งแต่เมื่อปลายเดือน ธ.ค.66 เป็นสถานีขนาดใหญ่รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 5,000 คนต่อวัน มีพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารประมาณ 1,759.22 ตารางเมตร ประกอบด้วย ห้องจำหน่ายตั๋ว ห้องควบคุมระบบต่างๆ ห้องสุขาสำหรับพนักงาน ห้องนายสถานี ห้องประชุม และห้องรับรอง มีห้องสุขาสาธารณะขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 90 ตารางเมตร แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ห้องสุขาชาย ห้องสุขาหญิง และห้องสุขาเสมอภาค

มีชานชาลาสำหรับผู้โดยสารมีหลังคาคลุม 3 ชานชาลา ประกอบด้วย ชานชาลาที่ 1(font) พื้นที่ใช้สอยรวม 2,377.14 ตารางเมตร ชานชาลาที่ 2 (middle) พื้นที่ใช้สอยรวม1,875.34 ตารางเมตร และชานชาลาที่ 3 (siding) พื้นที่ใช้สอยรวม 1,347.50 ตารางเมตร โดยมีสะพานลอยระหว่างชานชาลา มีบันไดขึ้น-ลง3 ทางพร้อมทั้งลิฟต์ 3 ตัว อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทุกคน นอกจากนี้ มีบ้านพักพนักงานรถไฟ เป็นอาคารสองชั้น จำนวน 2 อาคาร รวม 6 คูหา มีพื้นที่ถนนของโครงการ 630 ตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่สำหรับจอดรถ 467 ตารางเมตร รองรับรถยนต์ได้ 21 คัน และพื้นที่สำหรับจอดรถผู้พิการ 1 คัน และงานปรับปรุงภูมิทัศน์รอบสถานี 2,085 ตารางเมตร ทั้งนี้มีกำหนดเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือน มิ.ย.67

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่ พบว่า บริเวณย่านสถานีรถไฟเพชรบุรี การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้ก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามเพิ่มเติม เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่นักศึกษาพยาบาลของวิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้รับคำขอบคุณจากผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่วิทยาลัยพยาบาล อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัจจุบัน รฟท. ได้ใช้งานสถานีใหม่แล้ว จึงมีแนวคิดจะพัฒนาปรับปรุงอาคารสถานีเก่า ซึ่งมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม สำหรับเป็นพิพิธภัณฑ์ และอาคารจำหน่ายสินค้า OTOP และของที่ระลึก เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนในจังหวัด

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ฝั่งตรงข้ามสถานีรถไฟเพชรบุรี ซึ่งปัจจุบันเป็นจุดจอดรถโดยสารรถประจำทาง สามารถพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นลานจอดรถขนส่งสาธารณะได้ เพื่อรองรับการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างล้อและราง ซึ่งสำนักงานขนส่งจังหวัดเพชรบุรีมีแผนจะพัฒนาเส้นทางรถโดยสารสาธารณะเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟเพชรบุรี กับสถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางของประชาชนอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อประหยัดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ลดปัญหาการจราจรติดขัด และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกลง.