เมื่อวันที่ 12 พ.ค. สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ปฏิรูปการทำงาน ป.ป.ช. กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,056 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 7–11 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา

ที่น่าเป็นห่วงคือ ความรู้สึกเศร้าใจของประชาชน ต่อ ข่าวที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของ ป.ป.ช. พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.2 รู้สึกเศร้าใจค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด ต่อ ข่าวที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของ ป.ป.ช. และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ เมื่อสอบถามถึง ความรู้สึกสูญเสียความเชื่อมั่นต่อ ป.ป.ช.ในการทำหน้าที่ เป็นเสาหลัก ปราบโกง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.0 รู้สึก สูญเสีย ค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึง การรับรู้ผลงานโดดเด่นของ นายวิชา มหาคุณ อดีต กรรมการ ป.ป.ช. ทำงานด้วยความซื่อตรง พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.8 รับรู้ค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด ต่อ ผลงานโดดเด่นของ นายวิชา มหาคุณ อดีต กรรมการ ป.ป.ช. และนายกล้านรงค์ จันทิก ทำงานด้วยความซื่อตรง นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.7 เห็นด้วยค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด ต่อการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ กำกับ กิจการที่ดีของหน่วยงานภาครัฐ

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.5 เชื่อมั่นต่อ ป.ป.ช. ค่อนข้างน้อยถึงเชื่อมั่นน้อยที่สุด ในขณะที่ ร้อยละ 41.5 เชื่อมั่นค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.4 เห็นด้วยค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุดว่า ถึงเวลาแล้วที่ ป.ป.ช. ต้องปฏิรูปตนเอง

รายงานของซูเปอร์โพล ยังระบุถึงข้อเสนอแนะจาก ประชาชน ต่อ สำนักงาน ป.ป.ช. ด้วยว่า
1) กรรมการ ป.ป.ช. และ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทุกคน ทำงานด้วยความซื่อตรง โปร่งใส ไม่ทุจริตเสียเอง
2) ควรลาออก ถ้าอยู่ต่อ ควรกวาดบ้านตนเองให้สะอาดก่อน มากกว่าไปตรวจสอบหน่วยงานอื่นเขา ขจัดระบบอุปถัมภ์
3) เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าตรวจสอบ ป.ป.ช. ได้มากขึ้น ให้มีองค์กรอิสระ กลไกรัฐอื่น ๆ ตามกฎหมายเข้าคานอำนาจ และตรวจสอบดำเนินคดีคนใน ป.ป.ช. ได้
4) ปิดบัง และ คุ้มครองผู้ให้ข้อมูล
5) ปรับปรุงเรื่องการสื่อสาร ให้ชัดเจน ลดความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชน