รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ขณะนี้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) อยู่ระหว่างการตรวจรับงาน โครงการเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP 2 ในงวดสุดท้าย คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค. 67 จากนั้นประมาณเดือน มิ.ย. 67 ขร. จะนำผลการศึกษาเสนอมายังกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบ และรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า เบื้องต้นผลการศึกษาฯ ได้จัดลำดับความสำคัญแผนการพัฒนา M-Map 2 มี 46 เส้นทาง ระยะทางรวม 659.85  กิโลเมตร (กม.) แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่ม A1 เส้นทางที่มีความจำเป็น/มีความพร้อม (สามารถดำเนินการได้ทันที) 4 เส้นทาง 31 สถานี ระยะทางรวม 51.40 กม., กลุ่ม A2 เส้นทางที่มีความจำเป็น/แต่ต้องเตรียมความพร้อมก่อน คาดว่าดำเนินการภายในปี 72 จำนวน 6 เส้นทาง 41 สถานี ระยะทางรวม 51.45 กม., กลุ่ม B เส้นทางที่มีศักยภาพ เนื่องจากผ่านการศึกษาความคุ้มค่าในโครงการ M-Map 1 และบางเส้นทางเป็นเส้นทางใหม่ที่มีปริมาณผู้โดยสารถึงเกณฑ์ที่จะพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้าได้ รวม 10 เส้นทาง 95 สถานี ระยะทางรวม 167.50 กม.และกลุ่ม C เส้นทางที่จะเป็นระบบ Feeder อาทิ Tram ล้อยาง และรถเมล์ไฟฟ้า 26 เส้นทาง ระยะทางรวม 389.50 กม.

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า กลุ่ม A1 เป็นกลุ่มที่สามารถดำเนินการได้เลย และขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเร่งผลักดันโครงการเข้าสู่การพิจารณาของกระทรวงคมนาคม และ ครม. ให้ได้รับการอนุมัติภายในปี 67 โดยกลุ่ม A1 จำนวน 4 เส้นทาง วงเงิน 70,236 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.รถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,473 ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งปัจจุบันกระทรวงคมนาคม เสนอโครงการดังกล่าวไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อรอบรรจุวาระของที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาแล้ว

2.รถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,670 ล้านบาท รฟท. อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามข้อสั่งการของกระทรวงคมนาคม คาดว่า รฟท. จะส่งกลับมายังกระทรวงคมนาคมพิจารณาอีกครั้งภายในเดือน พ.ค. นี้ 3. รถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอ ครม. จะรอให้รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งขณะนี้มีคดีพิพาทเกี่ยวกับการคัดเลือกโครงการฯ ได้รับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง เพราะการก่อสร้างทั้ง 2 โครงการใช้พื้นที่ร่วมกัน

และ 4. โครงการรถไฟฟ้า สายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.10 กม. วงเงิน 48,477 ล้านบาท ขณะนี้ รฟม. อยู่ระหว่างทบทวน และปรับปรุงผลการศึกษา ตามข้อสั่งการของกระทรวงคมนาคม อาทิ การวิเคราะห์เพิ่มเติมกรณีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตามนโยบายรัฐบาล, การบูรณาการโครงการทางด่วน ขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นต้น ส่วนรูปแบบของรถที่จะนำมาใช้กับสายสีน้ำตาล กระทรวงคมนาคมไม่ได้มีนโยบายบังคับว่าจะต้องใช้รถรูปแบบใด ให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ รฟม. โดยก่อนหน้านี้ รฟม. มีแผนจะใช้รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมให้ รฟม. เสนอโครงการฯ กลับมา เพื่อพิจารณาอีกครั้งภายในปี 67.