“หลุมยุบ” หรือ Sinkhole เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติและถือเป็นธรณีพิบัติอย่างหนึ่ง มักเกิดจากการยุบตัวของชั้นดินและกิน มีลักษณะของพื้นผิวที่พังทลายลงสู่ใต้ดิน ขนาดของปากหลุมและความลึกจะแตกต่างกันไป 

เมื่อหลุมยุบเกิดในทะเลหรืออยู่ใต้ผิวน้ำทะเล จะมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Blue hole ซึ่งทั่วโลกมีอยู่หลายแห่ง 

ตัวอย่างหลุมยุบใต้ทะเล “The Great Blue Hole” ล้อมรอบด้วยแนวปะการังนอกชายฝั่งของประเทศเบลิซ

เดิมที หลุมยุบ “ทามจา”(Taam Ja’ Blue Hole) ที่อยู่นอกชายฝั่งเม็กซิโก บริเวณอ่าวเชตูมัล ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหลุมยุบใต้ทะเลที่มีความลึกมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก 

แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทีมวิจัยที่เผยแพร่บทความในวารสาร Frontrtiers in Marine Science เผยว่า หลุมยุบทามจาอาจจะลึกกว่าที่เคยประเมินกันไว้ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ได้จากทีมนักประดาน้ำที่ลงไปสำรวจหลุมยุบใต้ทะเลแห่งนี้เมื่อเดือนธ.ค. ปีที่แล้ว

ผู้เขียนรายงานยืนยันว่า หลุมยุบทามจาคือหลุมยุบใต้ทะเลที่ลึกที่สุดเท่าที่มีการสำรวจในปัจจุบัน โดยวัดระดับน้ำลึกภายในหลุมได้มากกว่า 420 mbsl หรือ 420 เมตรจากระดับน้ำทะเล 

ตัวเลขนี้เป็นระดับที่ทีมนักประดาน้ำสำรวจวัดได้ และเป็นระดับความลึกที่พวกเขายังลงไปไม่ถึงก้นหลุมใต้ทะเลแห่งนี้ด้วยซ้ำ อีกทั้งยังเป็นระดับที่ลึกกว่าทะเลชั้น Mesopelagic Zone ซึ่งมีระดับความลึกที่ 200-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “โซนสนธยา” (Twilight Zone) เพราะแสงสว่างสามารถส่องลงมาถึงทะเลในชั้นนี้เพียง 1% เท่านั้น

ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่า หลุมยุบทามจาน่าจะมีความลึกราว 274 mbsl ซึ่งเป็นการวัดด้วยอุปกรณ์ปล่อยคลื่นเสียงสะท้อนและนำข้อมูลระยะเวลาการเดินทางของคลื่นที่ไปตกกระทบพื้นผิวหรือวัตถุ มาคำนวณขนาดของพื้นที่ใต้ทะเล 

แต่เนื่องจากรูปทรงของหลุมยุบนั้นไม่แน่นอน และน้ำทะเลภายในก็มีความหนาแน่นในระดับที่แตกต่างกันไป การใช้วิธีนี้จึงมีข้อจำกัดและทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนได้ 

ในการสำรวจครั้งใหม่นี้ ทีมวิจัยได้ใช้อุปกรณ์และวิธีการวัดแบบใหม่ที่ได้ผลดีกว่า เรียกว่า SWiFT CTD ซึ่งสามารถวัดได้ทั้งค่าการนำไฟฟ้าของน้ำ, อุณหภูมิและความลึกใต้น้ำ แต่ถึงอย่างนั้น อุปกรณ์ดังกล่าวก็ยังไม่สามารถลงไปจนถึงก้นบึ้งของหลุมยุบแห่งนี้ได้

ภาพบอกตำแหน่งของหลุมยุบทามจา (A) และภาพทีมงานขณะสำรวจที่ความลึก 5 เมตร (B), 20 เมตร (C) และ 30 เมตร (D)

อย่างไรก็ตาม ระดับความลึกของหลุมยุบทามจาที่วัดได้ใหม่นี้เป็นตัวเลขที่สูงกว่าระดับความลึกของหลุมยุบใต้ทะเลแห่งอื่น ๆ เช่น หลุม Sansha Yongle Blue Hole หรือ “หลุมมังกร” ในทะเลจีนใต้ ซึ่งวัดความลึกได้ 301 mbsl, หลุมยุบ Dean’s Blue Hole ในแถบหมู่เกาะบาฮามาส์ ซึ่งคาดว่ามีความลึกราว 202 mbsl และหลุมยุบ Dahab Blue Hole ในอียิปต์ ที่คาดว่าลึกประมาณ 130 mbsl 

นักวิทยาศาสตร์มองว่าหลุมยุบใต้ทะเลเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งน่ากลัว แต่มีความสำคัญทางต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล เพราะความหลากหลายทางชีวภาพที่อยู่ภายในหลุม ซึ่งจะมีสัตว์ทะเลหลากหลายชนิดอาศัยอยู่ ตั้งแต่ปะการัง, ฟองน้ำ, ปลา, เต่าไปจนถึงงูทะเล

ปัจจุบัน มนุษย์ยังมีความรู้เกี่ยวกับหลุมยุบใต้ทะเลเหล่านี้น้อยมาก เพราะเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงยาก บางหลุมก็มีทางเข้าที่เล็กเกินไป ทำให้การสำรวจเป็นไปอย่างลำบาก นอกจากนี้ก็ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ใต้ทะเลมีหลุมยุบอยู่กี่แห่งและอยู่ตรงไหนบ้าง หลุมยุบที่มีการสำรวจและบันทึกตำแหน่งในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่จะได้ข้อมูลบอกตำแหน่งที่ส่งผ่านมาจากชาวประมงและนักประดาน้ำในพื้นที่มากกว่าจะได้มาจากการสำรวจของนักวิจัยทางทะเลโดยตรง

ที่มา : cbsnews.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, ALCÉRRECA-HUERTA ET AL. FRONTIERS IN MARINE SCIENCE (2024)