นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล เปิดเผยว่า แผนธุรกิจภายในปี 66 จะให้ความสำคัญกับสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมากขึ้น และจะลดสัดส่วนสินเชื่อประเภทเช่าซื้อทั้งรถใหม่และรถมือสองลง เนื่องจากปัจจุบันคนมีรถอยู่แล้วจำนวนมาก และอยากได้เงินไว้ใช้จึงนำมาจำนำทะเบียนไว้ และเป็นกลุ่มที่บริษัทฯ เห็นพฤติกรรมการชำระหนี้ในช่วงที่ผ่านมาที่ผ่อนค่างวดรถกับบริษัทฯ ทำให้ปิดความเสี่ยงตรงนี้ได้ โดยตั้งเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อรวมปี 66 อยู่ที่ 14,800 ล้านบาท จากสิ้นไตรมาส 2 ปี 64 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 8,420 ล้านบาท

สำหรับสินเชื่อจำนำทะเบียนรถสัดส่วนในปี 66 จะเป็น 45% จาก 27% ในปัจจุบัน หรือเติบโต 3 เท่า จาก 2,280 ล้านบาท เป็น 6,680 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถสัดส่วนจะเล็กลงจาก 65% เป็น 38% และเน้นรักษาฐานลูกค้า รวมทั้งปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ให้คนต้องการใช้เงิน เพื่อต่อยอดไปสินเชื่อรถและอื่น ๆ ด้วย เช่น สินเชื่อรถ หรือจำนำทะเบียน เป็นต้น

นอกจากนี้เฮงลิสซิ่ง มีกลยุทธ์หลัก คือ ใช้พนักงานท้องถิ่นเป็นหลัก เพราะเป็นคนที่รู้จักลูกค้าในพื้นที่เป็นอย่างดี เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ บ้านเป็นอย่างไร โดยปัจจุบันมีพนักงานตามสาขา 1,300 คน และจุดแข็งคือจัดวงเงินตามที่ลูกค้าต้องการ เช่น ต้องการเงินเท่าไร ผ่อนต่อเดือนเท่าไร มีเงินเดือนเท่าไร

ทั้งนี้จากที่สอบถามผู้กู้ไม่ได้ต้องการดอกเบี้ยถูกลง แต่ต้องการเงินมาใช้จ่ายมากกว่า ดังนั้นการที่จะมาแข่งด้านดอกเบี้ยต่ำเหมือนกับเจ้าอื่น ๆ แค่ลดดอกเบี้ย 1-2% ก็ไม่ได้มีผลมากนัก ซึ่งดอกเบี้ยบริษัทฯ ไม่ได้คิดเต็มเพดานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดอยู่แล้ว และยังรับรถเก่า 15-20 ปี ก็มาขอกู้ได้ มีลูกหนี้ประเภทนี้ในพอร์ตถึง 3-5% ซึ่งบริษัทฯ จะเน้นคุณภาพสินเชื่อ รายได้ และการคำนวณความเสี่ยงของการชำระหนี้

สำหรับจำนวนสาขา ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 มีทั้งสิ้น 451 สาขาใน 52 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 171 สาขา, ภาคกลาง 131 สาขา, ภาคอีสาน 122 สาขา, ภาคตะวันตก 21 สาขา, ภาคตะวันออก 3 สาขา และภาคใต้ 3 สาขา โดยมีแผนที่จะขยายสาขาภายในปี 66 เป็น 830 สาขา ตั้งเป้าหมายภายในปี 66 จะเน้นไปทางอีสานมากขึ้น เพราะมีคนเยอะมีโอกาสเติบโต

ขณะที่พอร์ตสินเชื่อ ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 มี 8,420 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกันสัดส่วน 93.8% รวม 7,900 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อเช่าซื้อ 5,515 ล้านบาท สัดส่วน 65.5%, สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 2,280 ล้านบาท สัดส่วน 27.1% และสินเชื่อจำนองบ้านและที่ดิน 107 ล้านบาท สัดส่วน 1.3%

ส่วนสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันมีสัดส่วน 6.2% ของพอร์ตรวม เป็นสินเชื่อ 518 ล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 414 ล้านบาท สัดส่วน 4.9% และสินเชื่อผู้บริโภค 104 ล้านบาท ส่วนส่วน 1.2% คาดสิ้นปี 64 ที่ 8,800 ล้านบาท ขณะที่หนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) ปี 66 จะไม่เกิน 3% จากไตรมาส 2 ปี 64 ที่ผ่านมา 3.7%

นางสุธารทิพย์ กล่าวว่า ได้หารือกับ ธปท. ขอปล่อยสินเชื่อออนไลน์ (ดิจิทัลเลนดิ้ง) ที่เป็นสินเชื่อนาโนฯ และผู้ที่มีฐานเงินเดือนแค่ 6,000 บาทก็กู้ได้แล้ว ซึ่งวงเงินเป็นไปตามรายได้และความสามารถชำระหนี้ รายได้น้อยก็ปล่อยกู้ให้น้อย ไม่ได้ปฏิเสธให้สินเชื่อเลย

“ปัจจุบันมีการแข่งขันสินเชื่อจำนำทะเบียนรถกันสูง มองว่ายิ่งแข่งยิ่งดี ผู้บริโภคได้ประโยชน์ เพราะจากข้อมูลมีถึง 60% ที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อสถาบันการเงิน ถ้าไม่กู้นอนแบงก์ ก็ออกไปกู้หนี้นอกระบบ ก็หวังว่ากลุ่มที่กู้นอกระบบ จะกันมากู้กับเฮงลิสซิ่ง”