ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล ฝ่ายการเมือง กับแบงก์ชาตินั้น เกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะระหว่าง 2 ผู้นำ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และ ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จนล่าสุด ‘อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ และเป็นอุปสรรคพัฒนาประเทศ

หน้าที่หลักของธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติ และรัฐบาล เป็นอย่างไร?
– ธนาคารกลาง แบงก์ชาติ เป็นผู้ดูแลนโยบายการเงิน
– รัฐบาล เป็นผู้ดูแลนโยบายการคลัง

ย้อนรอยความขัดแย้ง “รัฐบาล” กับ “แบงก์ชาติ”
1. ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ไม่เห็นด้วยกับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล

  • ‘เศรษฐพุฒิ’ ผู้ว่าการ ธปท. แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินมาแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตมาอย่างต่อเนื่อง จนรัฐบาลปรับเปลี่ยนรูปแบบแหล่งที่มาของเงิน จากการกู้ 500,000 ล้านบาท เป็นใช้เงินงบประมาณปี 2567, งบประมาณปี 2568 และเงินสภาพคล่องจาก ธ.ก.ส.
  • ‘แบงก์ชาติ’ ส่งหนังสือถึง ครม. 5 หน้า ย้ำว่า ไม่ได้มีปัญหากับโครงการ แต่ควรแจกเฉพาะกลุ่มอย่างคนรายได้น้อยที่ใช้เงินน้อยกว่ามาก และเงิน 500,000 ล้านบาท สามารถนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้อีกหลายโครงการ

2. แบงก์ชาติ ไม่ยอมลดดอกเบี้ย

  • ตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลเศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศ ได้พูดกดดันแบงก์ชาติให้ลดดอกเบี้ยมาตลอด เพื่อช่วยเหลือประชาชนคนกู้เงิน, ลดต้นทุนให้ภาคธุรกิจ และอาจรวมถึงลดต้นทุนกู้เงินของรัฐบาลที่ต้องการมาใช้กับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต
  • นายกฯ เศรษฐา เรียกนายแบงก์ 4 ธนาคารใหญ่ ขอร้องให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ช่วยกลุ่มเปราะบาง โดยธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ ยอมลดดอกเบี้ยเงินกู้ MRR 0.25% นาน 6 เดือน เพื่อช่วยกลุ่มเปราะบาง คนมีบ้าน และเอสเอ็มอี

3. แบงก์ชาติ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลหลายเรื่อง เช่น แจกเงินช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เป็นต้น

  • การแจกเงินช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เป็นอีกโครงการที่แบงก์ชาติไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าปัจจุบันราคาข้าวสูง ค่าปุ๋ยถูก และกังวลปัญหามอรัลฮัดซาร์ด (Moral hazard) หรือพฤติกรรมผิดๆรอความช่วยเหลือซ้ำซ้อน

4. การเมืองตั้งคำถามความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ

  • ‘อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขึ้นเวทีพูดถึงความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ และเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ จนบุคคลหลากหลายวงการ แสดงความเห็นออกมาปกป้องแบงก์ชาติ และเห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของแบงก์ชาติ
  • ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็น แต่ความสำคัญของการเป็นอิสระ เพราะแบงก์ชาติ เป็นองค์กรพิมพ์ธนบัตรได้เอง และรัฐบาล เป็นองค์กรใช้เงิน หากไม่มีความเป็นอิสระแยกจากกัน อาจเกิดผลเสียต่อประเทศได้

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐา และผู้ว่าการแบงก์ชาติ ได้นัดคุยเป็นการส่วนตัว หารือถึงแนวทางนโยบายที่ต้องสอดประสานกันระหว่างนโยบายรัฐบาล นโยบายการคลังและการเงิน แต่ในระยะหลังไม่มีการพูดคุยหารือกันเหมือนก่อน และผู้ว่าการแบงก์ชาติ ไม่เข้าร่วมประชุมคณะเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยส่งตัวแทนประชุมแทน เป็นการส่งสัญญาณตอกย้ำรอยร้าวระหว่างรัฐบาลและแบงก์ชาติในเวลานี้