เมื่อวันที่ 3 ต.ค. กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศฉบับที่ 17 เตือนพื้นที่ลุ่มต่ำ 6 จว. ริมน้ำชีล้นตลิ่ง ช่วง 4-15 ต.ค. นี้ ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

ฉบับที่ 17/2564 เรื่อง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในลำน้ำชีล้นตลิ่ง

จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “เตี้ยนหมู่” และแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 24 – 25 กันยายน 2564 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำชี โดยเฉพาะในลุ่มน้ำชีตอนบน บริเวณจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งปริมาณน้ำสูงสุดได้เดินทางมาถึงเขื่อนชนบท อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ส่งผลให้ระดับน้ำที่เขื่อนชนบทสูงกว่าตลิ่งในช่วงพื้นที่ลุ่มต่ำประมาณ 3.50 เมตร และล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชี ในเขตอำเภอโคกโพธิ์ชัย อำเภอแวงใหญ่ อำเภอชนบท อำเภอมัญจาคีรี อำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านแฮด และอำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น ประกอบกับระดับน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น สูงเกินเกณฑ์ระดับน้ำควบคุมสูงสุด จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำลงลำน้ำพองและไหลไปรวมกับแม่น้ำชี ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มสูงมากขึ้น

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีตอนกลางบริเวณอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม พบว่าเขื่อนมหาสารคาม อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มีระดับน้ำ +147.58 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) สูงกว่าระดับเก็บกัก 0.78 เมตร (ระดับเก็บกัก +146.8 ม.รทก.) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนมหาสารคาม 580 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 5 เซนติเมตรต่อชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.50 – 2 เมตร ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชีในช่วงวันที่ 4 – 15 ตุลาคม 2564 ดังนี้

1. จังหวัดขอนแก่น อำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอโคกโพธิ์ชัย อำเภอมัญจาคีรี อำเภอแวงใหญ่ อำเภอแวงน้อย อำเภอชนบท อำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านแฮด และอำเภอพระยืน

2. จังหวัดมหาสารคาม อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม

3. จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอฆ้องชัย อำเภอกมลาไสย และอำเภอร่องคำ

4. จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอจังหาร อำเภอเชียงขวัญ อำเภอธวัชบุรี อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอเสลภูมิ อำเภอทุ่งเขาหลวง อำเภอพนมไพร และอำเภออาจสามารถ

5. จังหวัดยโสธร อำเภอเมืองยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย และอำเภอค้อวัง

6. จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอกันทรารมย์

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อม

ในการอพยพและเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

2. ปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ โดยพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ จัดจราจรน้ำในการสับหลีกการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ รองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน เพื่อลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยและให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

3. เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

ประกาศ ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2564