ก่อนหน้านี้เคยมีผู้พบเห็นลิงไพรเมตรู้จักกินพืชหรือใช้บางส่วนของพืชทาถูบนร่างกาย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าเป็นพฤติกรรมการใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรคหรืออาการบาดเจ็บ

แต่พฤติกรรมดังกล่าวเพิ่งจะมีทีมนักวิจัยพบเห็นด้วยตาตัวเองเมื่อปี 2565 ที่ประเทศอินโดนีเซีย จึงมีการรวบรวมข้อมูลและเสนอรายงานไว้ในวารสาร Nature Scientific Reports ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา และถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจดบันทึกพฤติกรรมของสัตว์ป่าที่รู้จักใช้พืชที่มีฤทธิ์ทางยาเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บของตัวเอง

ทีมนักวิจัยได้เฝ้าติดตามอุรังอุตังเพศผู้ตัวหนึ่งซึ่งมีการตั้งชื่อให้มันว่า “ราคัส” ในบริเวณอุทยานแห่งชาติกูนุงเลอเซอร์ จังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซีย และพบว่ามันมีบาดแผลที่หน้า ตรงบริเวณใต้ตาข้างหนึ่ง ผิวหนังเปิดออกจนเห็นเนื้อชั้นใน

3 วันหลังจากนั้น พวกเขาก็พบเห็นเจ้าราคัสกำลังเคี้ยวใบไม้จากต้นขมิ้นเครือซึ่งเป็นพืชประเภทไม้เลื้อย มีสรรพคุณทางการแพทย์และเป็นสมุนไพรที่ใช้กันในท้องถิ่น

ทีมวิจัยพบลิงอุรังอุตัง “ราคัส” มีบาดแผลบนใบหน้าและมันรู้จักใช้สมุนไพรพอกที่แผล
ใบหน้าของเจ้าราคัสซึ่งหายดีแล้ว หลังจากที่มันใช้ใบขมิ้นเครือรักษาแผลของมัน

กลุ่มนักวิจัยซึ่งเป็นทีมนักวิทยาศาสตร์จากเยอรมนีพบว่า ราคัสเพียงแต่เคี้ยวใบขมิ้นเครือ แต่ไม่ได้กลืนกินลงไป จากนั้นก็ใช้นิ้วของมันแตะน้ำที่ออกมาจากใบไม้ในปากที่โดนเคี้ยวจนแหลก แล้วเอาไปแต้มที่แผลบนหน้าของมัน

เมื่อมีแมลงวันเข้ามาตอมแผล ราคัสก็นำเยื่อไม้ที่มันเคี้ยวจนแหลกไปพอกไว้ที่แผลจนทั่ว 

วันต่อมา นักวิจัยก็พบเจ้าราคัสนั่งเคี้ยวใบไม้อีกครั้ง และในเวลา 1 สัปดาห์ถัดมา แผลของมันก็ปิดและค่อย ๆ หาย โดยไม่มีร่องรอยว่าจะอักเสบจากการติดเชื้อ

รายงานวิจัยชี้ว่าพฤติกรรมของ ราคัส เป็นกรณีแรกที่พบว่าสัตว์ป่ามีการรักษาแผลสดอย่างเป็นขั้นตอน โดยใช้พืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางยา 

ทีมวิจัยไม่สามารถสรุปได้ว่า พฤติกรรมของ ราคัส เกิดจากความตั้งใจหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่พบเห็นว่า มันนำน้ำยาและเยื่อใบไม้มาทาเฉพาะบริเวณที่เป็นแผลอย่างสม่ำเสมอ ย่อมสะท้อนว่า ราคัสพยายามจะรักษาบาดแผลของมัน

ทีมงานคาดว่า ราคัส อาจจะพบวิธีรักษาแผลโดยบังเอิญ จากการเคี้ยวใบไม้แล้วบังเอิญเอาน้ำจากใบไม้ไปโดนแผล จากนั้นมันก็พบว่าใบขมิ้นเครือมีฤทธิ์บรรเทาปวด

ตามปกติ อุรังอุตังก็เป็นลิงที่สามารถเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ จากกันและกัน โดยใช้วิธีสังเกตและเฝ้าดูลิงตัวอื่น ๆ แต่ทีมวิจัยกล่าวว่า ตลอดเวลา 21 ปีที่ผ่านมา และการสังเกตการณ์ชีวิตสัตว์ป่า 28,000 ชั่วโมง พวกเขายังไม่เคยพบสัตว์ป่าตัวไหนที่มีพฤติกรรมเช่นนี้

นอกจากนี้ ราคัส ยังเป็นลิงที่ย้านถิ่นฐานมากที่สุด ทำให้มีความเป็นไปได้ว่ามันเรียนรู้วิธีรักษาแผลให้ตัวเองจากแหล่งที่อยู่ที่อื่นมาก่อน

บันทึกสังเกตการณ์ในครั้งนี้กลายเป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่ช่วยยืนยันว่า ลิงไพรเมตมีวิธีใช้พืชพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพของมัน เช่น การเคี้ยวใบไม้บางชนิดที่มีคุณสมบัติช่วยฆ่าพยาธิในร่างกาย

นอกจากนี้ยังเคยมีผู้พบเห็นอุรังอุตังในแหล่งอื่นของอินโดนีเซียใช้ใบไม้ทาถูที่ผิวหนัง ซึ่งคาดว่าทำไปเพื่อลดอาการอักเสบ

เครดิตภาพ : AFP