นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมหารือเรื่องกรอบความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างกองทัพอากาศ (ทอ.) และกระทรวงคมนาคม ตามนโยบายนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (ฮับ) ของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ซึ่งยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินให้เพิ่มขึ้นได้อีก จึงหารือร่วมกันว่าจะสามารถย้ายสนามกอล์ฟกานตรัตน์ (สนามงู) ของ ทอ. ที่มีพื้นที่ด้านข้างทางวิ่ง (รันเวย์) ออกไปได้หรือไม่ เพื่อประโยชน์ทางการบินของ ทดม. และเพื่อความปลอดภัยในการทำการบินก็จะดีมากยิ่งขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้การย้ายสนามกอล์ฟดังกล่าว ก็จะส่งผลกระทบต่อบุคลากรที่ทำงานอยู่ปัจจุบัน อาทิ พนักงานถือถุงกอล์ฟ (แคดดี้) รวมทั้งต้องสูญเสียรายได้จากการเปิดให้บริการสนามกอล์ฟ
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการหารือร่วมกันครั้งแรก จึงยังไม่ได้ลงรายละเอียดใดๆ มากนัก โดยที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อพิจารณารายละเอียดต่างๆ ร่วมกัน เบื้องต้นทาง ทอ. ให้ข้อมูลว่า เตรียมพัฒนาพื้นที่สนามกีฬากองทัพอากาศ (ธูปะเตมีย์) เป็นศูนย์กีฬาครบวงจร (Sport Complex) ด้วย ดังนั้นตนจึงมอบนโยบายให้ ทอท. พิจารณางบประมาณชดเชยรายได้บุคลากร และรายได้จากสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งการสนับสนุนอย่างสมเหตุสมผลจากการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สนามงู ประมาณ 355 ไร่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของ ทดม. โดยจะสามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5% จากเดิม 55 เที่ยวบินต่อชั่วโมง (ชม.) เป็น 65 เที่ยวบินต่อ ชม. เป็นการนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยได้เพิ่มมากขึ้น
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้หารือเรื่องการพัฒนาถนนวงแหวนรอบที่ 1 ผ่านบริเวณของกองบิน 41 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อไปยังท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ซึ่งได้มอบให้กรมทางหลวง (ทล.) ตั้งคณะทำงานร่วมกับ ทอ. พิจารณาหาแนวทางการกำหนดเส้นทางผ่านกองบิน 41 ที่เหมาะสมร่วมกัน เพื่อเปิดให้ประชาชนใช้ถนนผ่านเข้า-ออก ในพื้นที่กองบิน 41 อำนวยความสะดวกในการสัญจรของประชาชน และช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในตัวเมืองเชียงใหม่ด้วย ทั้งนี้ เบื้องต้นมี 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ใช้เส้นทางเดิม ซึ่งอาจปรับมาตรการผ่านเข้าออก โดยเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย และขยายเวลาการปิดให้บริการ จากเดิม 20.00 น. เป็น 22.00 น., 2.สร้างถนนแนวใหม่ แต่ยังอยู่ในพื้นที่กองบิน 41 ของ ทอ. และ 3.ใช้เส้นทางเดิม แต่เจาะอุโมงค์ลอดผ่านกองบิน 41 บางส่วน ซึ่งคณะทำงานต้องไปหาข้อสรุปร่วมกันว่าจะใช้แนวทางใด
ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท. มีแผนว่าหากได้รับพื้นที่สนามงู จะนำมาใช้ประโยชน์ด้านการบิน อาทิ สร้างเขตปลอดภัยข้างรันเวย์ และนำมาใช้เป็นทางขับคู่ขนาน เพื่อให้เครื่องบินสามารถพักรอก่อนผู้โดยสารจะขึ้นเครื่องบิน เป็นต้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุม ทอ. ให้ข้อมูลว่า หากไม่ได้ดำเนินกิจการสนามกอล์ฟ จะมีผลกระทบ อาทิ ผลกระทบด้านยุทธการ เนื่องจากบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ในอนาคตหากมีสถานการณ์วิกฤตขึ้นกองทัพอากาศจะปรับเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการด้านความมั่นคงทันที รวมทั้งจะมีผลกระทบการใช้ประโยชน์พื้นที่ราชพัสดุ ประโยชน์ด้านสวัสดิการกับข้าราชการกองทัพอากาศ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อขวัญ และความรู้สึกของข้าราชการกองทัพอากาศ เนื่องจากผู้ใช้บริการเป็นข้าราชการกองทัพอากาศ ทั้งในปัจจุบัน และผู้ที่เกษียณแล้ว ขณะเดียวกันพนักงานดูแลสนามกอล์ฟ 51 คน รวมทั้งพนักงานถือถุงกอล์ฟ (แคดดี้) 264 คน จะขาดรายได้เลี้ยงดูครอบครัว ขณะที่ผู้ประกอบการร้านค้าประจำหลุมต่างๆ โดยรอบพื้นที่สนามกอล์ฟ จะขาดรายได้เลี้ยงครอบครัวเช่นกัน และการไม่มีกิจการสนามกอล์ฟ ยังส่งผลให้ขาดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในชุมชนด้วย
อย่างไรก็ตาม ทอ. ได้ประเมินผลกระทบด้านรายได้ที่จะเกิดขึ้นหากไม่มีกิจการสนามกอล์ฟ โดยประมาณการเงินชดเชยรวมประมาณ 138 ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วย 1.ผลกระทบกับรายได้แคดดี้ (ไม่รวมครอบครัว) ประมาณปีละ 75 ล้านบาท 2. ผลกระทบกับพนักงาน และเจ้าหน้าที่สนาม ประมาณปีละ 9.1 ล้านบาท 3. เสียรายได้จากการดำเนินการกิจการ นำส่งเข้ากองทุนสวัสดิการกองทัพอากาศ ประมาณปีละ 5.5 ล้านบาท 4.ผลกระทบกับทรัพย์สิน เครื่องจักร 35 รายการ ประมาณ 12 ล้านบาท 5.ผลกระทบกับงบลงทุนสร้างอาคารคลับเฮาส์ ประมาณ 35 ล้านบาท 6. ผลกระทบกับงบลงทุนสร้างรายในสนาม ประมาณ 1.8 ล้านบาท และ 7.ผลกระทบกับผู้ประกอบการภายในสนาม 15 กิจการ
นอกจากนี้ ทอ. ยังประเมินการจัดใช้งบประมาณที่จะต้องเกิดขึ้น หากไม่ได้ดำเนินกิจการสนามกอล์ฟ โดยแบ่งงบประมาณเป็น ชดเชยรายได้และบุคลากร คาดการณ์ไว้ที่ปีละ 89.6 ล้านบาท และงบประมาณค่าสิ่งก่อสร้าง และอุปกรณ์ ประมาณ 48.8 ล้านบาท รวมทั้งยังต้องใช้งบประมาณค่าก่อสร้างอาคาร Sport Complex แห่งใหม่ ที่ต้องการให้ ทอท. สนับสนุน ประเมินวงเงินลงทุนแล้วอยู่ในหลักพันล้านบาท
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า วันเดียวกันเมื่อช่วงเช้า ทาง ทอ. ร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นเรื่องเงินชดเชยของ ทอ. อยู่ที่ประมาณ 90-100 ล้านบาทต่อปี หากคำนวณที่ 30 ปีของการใช้พื้นที่ ทอท. ต้องจ่ายชดเชยประมาณ 3,000 ล้านบาท