นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับผู้ให้บริการแอปพลิเคชันสำหรับรถรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) 11 ราย เพื่อหารือแนวทางการให้บริการรถยนต์รับจ้างผ่านแอปฯ โดยผู้ให้บริการฯ ได้ชี้แจงถึงปัญหาที่รถยนต์รับจ้างซึ่งเป็นสมาชิกของแอปฯ ไม่สามารถมาจดทะเบียนเป็นรถสาธารณะกับ ขบ. ได้ โดยมี 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1.กฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไขการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เพียงคนละ 1 คัน และการกำหนดให้ผู้ขับรถผ่านแอปฯ ต้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครอง ซึ่งความเป็นจริงผู้ขับรถอาจใช้รถที่เป็นชื่อของบิดา มารดา ภรรยา บุตร หรือเพื่อนในการขับรถ จึงเป็นข้อจำกัดในการจดทะเบียน โดยที่ประชุมมอบให้ ขบ. รับไปพิจารณา และดำเนินการตามข้อกฎหมาย และข้อกำหนด นอกจากนี้ได้มอบให้ ขบ. จัดทำมาตรฐานกลางแอปพลิเคชัน เพื่อให้สามารถใช้กำกับดูแลได้อย่างเท่าเทียม
2.ผู้ขับรถยนต์ที่อยู่ระหว่างการผ่อนชำระค่างวดตามสัญญาเช่าซื้อ ไม่สามารถใช้สำเนาใบคู่มือจดทะเบียนรถในการจดทะเบียนได้ และผู้ขับรถที่อยู่ระหว่างการผ่อนชำระค่างวดตามสัญญาเช่า ยังต้องขอเอกสารจากไฟแนนซ์เพิ่มเติม (หนังสือรับรองและหนังสือมอบอำนาจจากบริษัทไฟแนนซ์) โดยที่ประชุมมอบให้ ขบ. เชิญไฟแนนซ์มาเจรจาเรื่องการผ่อนปรนค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อลดภาระให้ผู้ขับรถยนต์, 3.ขอให้เปิดยื่นคำขอ และดำเนินการลงทะเบียน รย.18 ผ่านระบบออนไลน์ โดยเมื่อผู้ขับรถยื่นคำขอ และตรวจคุณสมบัติเบื้องต้นแล้วให้มีการออกใบอนุญาตชั่วคราวสำหรับให้บริการรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขณะนี้ ขบ. ให้สามารถยื่นคำขอและเอกสารได้ผ่านช่องทางต่างๆ เช่นอีเมล์ จากนั้นจะจัดอบรมให้เป็นกลุ่ม เมื่อผ่านการอบรมแล้ว ขบ. จะออกใบแทนให้สามารถนำมาจดทะเบียนเพื่อนำไปประกอบอาชีพได้ต่อไป
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า 4.ขอให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางทะเบียน และภาษีของรถจักรยานยนต์สาธารณะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้สอดคล้องกับรูปแบบการให้บริการปัจจุบัน โดยในส่วนของกรุงเทพฯ ขบ. จะเร่งรัดดำเนินการให้ไม่เกิน 10 วัน ส่วนต่างจังหวัด ขบ. จะพิจารณาแนวทางให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้นต่อไป, 5.ขอให้พิจารณาเชิญผู้แทนจากผู้ให้บริการแอปฯ เป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาการขนส่งสาธารณะ โดย ขบ. แนะนำให้กลุ่มผู้ให้บริการแอปฯ จัดตั้งกลุ่มในรูปแบบของสมาคม จึงจะสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการฯ ได้ ซึ่งทางกลุ่มผู้ให้บริการแอปฯ อยู่ระหว่างดำเนินการ
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า และ 6. ควรยกระดับกฎหมายสำหรับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และจักรยานยนต์สาธารณะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งที่ประชุมได้มอบให้ ขบ. พิจารณาและดำเนินการยกระดับกฎหมายให้มีความทันสมัย ภายใต้ความเสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรม อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีรถยนต์รับจ้างผ่านแอปฯ ทั้ง 11 ราย มาดำเนินการจดทะเบียนเป็นรถสาธารณะ กับ ขบ. อย่างถูกต้องรวม 3,547 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ (รย.18) จำนวน 3,315 คัน และรถจักรยานยนต์ (รย.17) จำนวน 232 คัน โดยตั้งเป้าหมายว่าภายใน 90 วันหลังจากนี้ รถยนต์รับจ้างผ่านแอปฯ จะต้องมาจดทะเบียนเป็นรถสาธารณะให้ถูกต้องตามกฎหมายครบทุกคัน โดยในระหว่างนี้หากตรวจพบว่ายังไม่ได้จดทะเบียน แต่มาให้บริการผู้โดยสาร จะถูกปรับคันละ2 พันบาท
นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ได้ขอให้กลุ่มผู้ให้บริการแอปฯ ดูแลกลุ่มแท็กซี่ป้ายเหลืองที่อยู่ในระบบแอปฯ อย่างเป็นธรรม และมอบนโยบายให้รถทุกคันที่ให้บริการผ่านแอปฯ ต้องมาจดทะเบียนกับ ขบ. ให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจ และปลอดภัยในการใช้บริการ และมอบให้ ขบ. พิจารณาดำเนินการ เพื่อให้การพัฒนาระบบการให้บริการรถสาธารณะผ่านแอปฯ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม สอดรับกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการให้บริการประชาชนและเกิดการพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะในภาพรวมของประเทศเป็นสำคัญต่อไป
สำหรับผู้ให้บริการแอปพลิเคชันสำหรับรถรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้รับการรับรองจาก ขบ. 11 ราย ประกอบด้วย บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โบลท์ ซัพพอร์ต เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัดบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัท ดอยดู ดิจิทัล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แท็กซ์สี (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัททาดา โมบิลิตี้ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท บอนกุ เทคโนโลจีส์ จำกัด บริษัท ฮัลโหลภูเก็ต เซอร์วิส จำกัด บริษัท แอร์เอเชีย ซูเปอร์แอพ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด.