“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์”  รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีม่วง (ใต้) ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ และสัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้า ในพื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์ (Cut & Cover) กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ถนนทหาร เขตดุสิต กรุงเทพฯ ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-พีแอล โดย บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) หรือ CK และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น หรือ STEC

นายสุริยะ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ในการเริ่มขุดเจาะอุโมงค์ของรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เป็นจุดแรก ซึ่งรถไฟฟ้าสายนี้ถือเป็นสายสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชน รวมทั้งจะช่วยลดปัญหาการจราจรด้วย นอกจากนี้ขอชื่นชมทั้ง 2 บริษัทที่มีแผนดูแลเรื่องความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้าง และมีวิศวกรควบคุมงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญอย่างมาก หวังว่าผู้รับจ้างซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานอย่างมาก และมีมาตรฐานสูง จะรักษาความปลอดภัยได้อย่างดี อย่างไรก็ตามหากรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เปิดให้บริการในขณะที่ตนยังดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคมอยู่ ประชาชนก็จะได้เดินทางในราคา 20 บาทตลอดสายด้วย

ด้านนายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.63 กิโลเมตร(กม.) วงเงินก่อสร้าง 8.2 หมื่นล้าน รวม 6 สัญญา เริ่มก่อสร้างโครงการฯ ตั้งแต่เดือน เม.ย.65 ผลงานโยธาในภาพรวม 30.45% เร็วกว่าแผน 0.06% สำหรับงานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดินสัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ ก้าวหน้า 40.68% และสัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้า  37.28 % ทั้งนี้โครงการใช้หัวเจาะอุโมงค์รวมทั้งสิ้น 7 หัว แบ่งเป็น หัวเจาะของงานสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 (ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้า) 3 หัว หัวเจาะของงานสัญญาที่ 3 (ช่วงผ่านฟ้า – สะพานพุทธ) 2 หัว และหัวเจาะของงานสัญญาที่ 4 (ช่วงสะพานพุทธ – ดาวคะนอง)  2 หัว

นายวิทยา กล่าวต่อว่า กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-พีแอล มีความพร้อมในการเดินเครื่องหัวเจาะ เพื่อก่อสร้างอุโมงค์คู่แล้วในเส้นทางตั้งแต่ Cut & Cover ซึ่งเริ่มต้นในพื้นที่กรมสรรพาวุธทหารบก ลอดผ่านพื้นที่กองพลทหารปืนใหญ่ฯ สถานีรัฐสภา สถานีศรีย่าน สถานีวชิรพยาบาล สถานีหอสมุดแห่งชาติ สถานีบางขุนพรหม สิ้นสุดบริเวณสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระยะทาง 5.89 กม. คาดว่าใช้เวลาประมาณ 20 เดือน (ธ.ค.69) จากนั้นในเดือน พ.ค.67 หัวเจาะตัวที่ 2 จะเริ่มต้นขุดเจาะอุโมงค์สายเหนือ (Northbound) จาก Cut & Cover ไปยังบริเวณสถานีหอสมุดแห่งชาติ ระยะทาง 3.49 กม.คาดว่าใช้เวลาประมาณ 12 เดือน และในเดือน ต.ค.67 หัวเจาะตัวที่ 3 จะเริ่มต้นขุดเจาะอุโมงค์สายเหนือ (Northbound) ต่อจากสถานีหอสมุดแห่งชาติ ไปยังบริเวณสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระยะทาง 2.40 กม. คาดว่าใช้เวลาประมาณ 7 เดือน

นายวิทยา กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ได้นำเทคโนโลยีหัวเจาะอุโมงค์สมดุลแรงดันดินที่มีประสิทธิภาพในการขุดเจาะใต้ดินที่มีสภาพเป็นดินเหนียว และทราย มีแรงดันน้ำใต้ดินในชั้นทรายสูง พร้อมด้วยอุปกรณ์สนับสนุน ประกอบด้วย ท่อลำเลียงดินออก อุปกรณ์สำหรับควบคุมทิศทาง อุปกรณ์ไฮโดรลิกส์ เพื่อการลำเลียงวัสดุก่อสร้างเข้า – ออก ในระหว่างการขุดเจาะและการก่อสร้างอุโมงค์ และอุปกรณ์ระบายอากาศ มาใช้ในงานขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2

สำหรับหัวเจาะอุโมงค์ที่นำมาใช้นี้ มีขนาดความยาว 9.6 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.58 เมตร น้ำหนัก 370 ตัน สามารถขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 5.70 เมตร ในระดับความลึก 15 – 35 เมตร ด้วยสมรรถภาพการขุดเจาะเฉลี่ยวันละ 10 – 15 เมตร หรือเดือนละ 350 เมตร ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีเตาปูน รองรับการเดินทางของประชาชนจากจังหวัดนนทบุรี เข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน และสถานที่สำคัญบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ไปยังพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ แบ่งเป็น โครงสร้างใต้ดิน 14.29 กม. โครงสร้างยกระดับ 9.34 กม. มีสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี  โดยมีแผนเปิดบริการปี 71.