นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามในหนังสือบอกเลิกสัญญากับ กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ที่มี บริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) (SCN) และ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ (CHO) เป็นบริษัทคู่สัญญาเหมาซ่อมรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (เอ็นจีวี) ยี่ห้อ BONLUCK หรือ BLK จำนวน 486 คัน แล้วเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทคู่สัญญาได้กระทำผิดสัญญาไม่สามารถซ่อมรถเมล์เอ็นจีวีให้สามารถออกมาวิ่งได้ จนมีการจอดรถเมล์ 486 คัน ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ปัจจุบัน ทำให้เกิดความเสียหายกับ ขสมก. และประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการใช้บริการรถเมล์เป็นจำนวนมาก
ซึ่งในหนังสือบอกเลิกสัญญา ขสมก. จะริบหลักประกันสัญญาจำนวน 426 ล้านบาท และตั้งคณะกรรมการเพื่อประเมินความเสียหายจากการเหมาซ่อมรถเมล์เอ็นจีวี 486 คัน ที่เกิดขึ้นจากบริษัทคู่สัญญา เช่น ค่าจ้างเหมาซ่อมแทน กรณีอาจจะถูกคู่สัญญาจากบริษัทติดตั้งโฆษณารถเมล์ฟ้องร้อง เสียภาพลักษณ์ และเสียรายได้จากการเดินรถ เบื้องต้นประมาณ 400-500 ล้านบาท ทั้งนี้ต้องรอคณะกรรมการสรุปค่าเสียหายชัดเจนอีกครั้ง เพื่อเรียกค่าเสียหายจากบริษัทคู่สัญญาต่อไป โดยถ้าคิดมูลค่าความเสียหายครั้งนี้แล้ว ถ้ารวมการริบเงินประกันสัญญา และการประเมินความเสียหายครั้งนี้ราวหลักพันล้านบาท ซึ่งหากบริษัทคู่สัญญาไม่มีการดำเนินใดๆ ขสมก. จะต้องนำเข้าสู่กระบวนการทางศาลตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป ขณะเดียวกัน ขสมก. จะทำหนังสือแจ้งไปที่กระทรวงการคลัง เพื่อเสนอข้อเท็จจริงกับการบอกเลิกสัญญาเหมาซ่อมรถเมล์เอ็นจีวี 486 คันครั้งนี้ว่า บริษัทคู่สัญญาเป็นผู้ทิ้งงาน เพื่อให้กระทรวงการคลัง พิจารณาขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) ต่อไป
นายกิตติกานต์ กล่าวต่อว่า หลังจากบอกเลิกสัญญาแล้ว ขสมก. จะดำเนินการหาบริษัทผู้รับเหมาซ่อมรถเมล์เอ็นจีวี 486 คัน รายใหม่ทันที ขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงาน (ทีโออาร์) เรียบร้อย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 7 วัน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแบบวิธีเจาะจง เพื่อความรวดเร็ว เพราะถ้าใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบอื่นจะทำให้ล่าช้าและส่งผลกระทบต่อประชาชนที่จะใช้บริการรถเมล์ด้วย คาดว่าเดือน มิ.ย.นี้ จะได้บริษัทเหมาซ่อมรถเมล์เอ็นจีวีรายใหม่ และลงนามสัญญาได้เบื้องต้นสัญญาเหมาซ่อมรถประมาณ 3 ปี จากนั้นจะประเมินผลการเหมาซ่อมปีละ 2 ครั้ง หรือขึ้นอยู่กับสถานการณ์
นายกิตติกานต์ กล่าวอีกว่า จากนั้นจัดกลุ่มการซ่อมรถเมล์ตามสภาพความเสียหาย เพื่อความรวดเร็ว สามารถดำเนินการซ่อมรถเมล์ให้บริการประชาชนโดยเร็ว อาจแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มรถเมล์ที่ต้องซ่อมเบา ไม่เสียหายมาก คาดว่าจะมีประมาณ 100 คัน โดยอิงจากข้อมูลการเดินรถเมล์ก่อนที่รถเมล์เอ็นจีวีจะจอดสนิท เพราะกลุ่มนี้ยังสามารถนำมาวิ่งได้ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีอะไหล่พร้อมซ่อม ใช้เวลาซ่อม 3-7 วันสามารถนำออกมาให้บริการได้
กลุ่ม 2 รถที่อะไหล่บางตัวเสียหาย ต้องหาซื้ออะไหล่ก่อน จึงจะซ่อมได้ ซึ่งกลุ่มนี้ต้องสำรวจจำนวนรถก่อนว่ามีกี่คัน โดยกลุ่มนี้จะใช้เวลาดำเนินการสักระยะ คาดว่าช่วงเดือน ก.ค. 67 จะสามารถนำรถเมล์มาให้บริการประชาชนได้
และ กลุ่ม 3 รถที่อะไหล่เสียหายหนัก ต้องสั่งซื้ออะไหล่นำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการสั่งซื้ออะไหล่และซ่อมแซมเป็นเวลานาน ซึ่งกลุ่มนี้ต้องสำรวจจำนวนรถก่อนว่ามีกี่คัน คาดว่าประมาณเดือน ส.ค. 67 จะดำเนินการซ่อมแล้วเสร็จและนำรถมาให้บริการประชาชนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสาร 489 คัน วงเงินมูลค่า 4,261,452,000 บาท แบ่งเป็นค่าตัวรถรวม 1,891,452,000 บาท หรือคันละ 3,868,000 บาท และวงเงินค่าซ่อมบำรุง 2,370,000,000 บาท ระยะเวลา 10 ปี โดยค่าซ่อมปีที่ 1-5 ราคา 925 บาทต่อคันต่อวัน ส่วนปีที่ 6-10 อยู่ที่ 1,730 บาทต่อคันต่อวัน ซึ่งคู่สัญญาจะต้องดูแลรถทั้ง 489 คันนี้ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ใช้งานได้ดีตลอด 10 ปี ตั้งแต่ปี 62-ปัจจุบัน (ปี 67) ประมาณ 6 ปีแล้ว และยังเหลือสัญญาอีก 4 ปี ซึ่งจะหมดสัญญาในปี 71 แต่มีการบอกเลิกสัญญากันไปก่อน