นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทอท. ยังอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด (Detail Design) การก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ระยะ (เฟส) ที่ 3 วงเงินประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดประกวดราคาได้ประมาณต้นปี 68 จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ อาคาร 3 ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1.4 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) เป็นลำดับแรกภายในปี 68 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการประมาณปี 71 ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของ ทดม. ได้เพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคน จากปัจจุบันรองรับได้ประมาณ 30 ล้านคนต่อปี รวมเป็นประมาณ 45 ล้านคนต่อปี และสามารถบริหารจัดการให้รองรับผู้โดยสารได้สูงสุดเป็น 50 ล้านคนต่อปี
นายกีรติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโครงการได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ทอท. จัดเตรียมงบประมาณไว้พร้อมดำเนินการแล้ว เมื่อออกแบบแล้วเสร็จจะเริ่มประมูล และก่อสร้างทันที โดยจะเริ่มจากการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ หลังที่ 3 ก่อน ซึ่งจะทุบอาคารในประเทศหลังเก่าที่ถูกปิดการใช้งานมานาน เพื่อก่อสร้างใหม่ โดยเป็นการทุบราบทั้งหมด ไม่เหลือโครงสร้างเดิม อย่างไรก็ตาม เมื่อก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 แล้วเสร็จ ทอท. จะย้ายการให้บริการระหว่างประเทศจากอาคาร 1 มาที่อาคาร 3 จากนั้นจะปิดการให้บริการอาคาร 1 เพื่อดำเนินการปรับปรุง (รีโนเวท) หลังจากไม่ได้ปรับปรุงมาตั้งแต่ปี 60
นายกีรติ กล่าวอีกว่า เมื่อดำเนินการปรับปรุงอาคาร 1 แล้วเสร็จ ทอท. จะปรับการให้บริการของอาคาร 1 เป็นอาคารภายในประเทศ เชื่อมต่ออาคาร 2 ซึ่งเป็นอาคารภายในประเทศหลังปัจจุบัน ส่วนพื้นที่อาคาร Service Hall หากในอนาคตพบว่า ไม่มีความจำเป็นในการรองรับกรุ๊ปทัวร์แล้ว เพราะกรุ๊ปทัวร์ส่วนใหญ่จะใช้บริการอาคารระหว่างประเทศ ก็จะปรับเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้บริการร้านค้า และร้านอาหารแทน นอกจากนี้ ทอท. จะเพิ่มช่องจราจรที่ให้บริการภายใน ทดม. จากขนาด 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร และจะเชื่อมต่อทั้งทางเข้า-ออกกับทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ เพื่ออำนวยความะสะดวกในการเดินทางให้ผู้ใช้บริการ และลดปัญหาการจราจรติดขัดใน ทดม.
รายงานข่าวจาก ทอท. แจ้งว่า สำหรับโครงการพัฒนา ทดม. เฟสที่ 3 ประกอบด้วย การทุบอาคารภายในประเทศหลังเก่าที่ปิดการใช้งาน ซึ่งมีอายุการใช้งานมานานประมาณ 40 ปีแล้ว สร้างเป็นอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 โดยจะเป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ จะมีการเพิ่มจํานวนเคาน์เตอร์เช็กอิน ช่องตรวจค้น จุดตรวจหนังสือเดินทาง รวมถึงพื้นที่โถงพักคอยผู้โดยสาร และเพิ่มความสะดวกสบายในการให้บริการด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ ระบบเช็กอินอัตโนมัติ (Self Check in) และเครื่องโหลดสัมภาระอัตโนมัติ (Self Bag drop) สร้างศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการเดินทางของสายการบินต้นทุนต่ำระหว่างประเทศ, 2. การปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 1 โดยจะปรับปรุงภายในอาคารทั้งหมด รวมถึงพื้นที่การให้บริการเข้ากับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศมี พื้นที่ให้บริการรวม 2.4 แสน ตร.ม. จะเพิ่มพื้นที่การให้บริการผู้โดยสารในประเทศได้ถึง 2.25 เท่า เพิ่มสิ่งอํานวยความสะดวกต่างๆ ทั้งเคาน์เตอร์เช็กอิน จุดตรวจค้น และสะพานเทียบเครื่องบิน
3. การปรับปรุงระบบการจราจรเข้า และออก ทดม. โดยการก่อสร้างสะพานเชื่อมทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์กับถนนภายในสนามบินดอนเมือง ทั้งขาเข้า และขาออก เพิ่มเติม 2 จุด และปรับปรุงขยายช่องทางจราจร หน้าอาคารผู้โดยสาร เป็น 6 ช่องทาง พร้อมปรับปรุงช่องทางออกด้านทิศใต้ เพื่อลดการติดขัดของระบบจราจรภายใน ทดม. และ 4.การขยายพื้นที่ลานจอดอากาศยาน ปรับปรุงอาคารสินค้า อาคารสํานักงาน และระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับกิจกรรมทางการบิน และการขนส่งทางอากาศ.