โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้มีความเห็นจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ได้ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 22 เม.ย. 67 เพื่อเสนอเป็นความเห็นประกอบการพิจารณาใน ครม.

โดยมีเนื้อหาความเห็นบางส่วน ว่า ธปท. มีความต้องการให้ใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิผล คุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง

ทั้งนี้ ควรแจกเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 15 ล้านคน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที และใช้งบ 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากคนกลุ่มรายได้น้อย มีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสูงกว่ากลุ่มรายได้อื่น และมักซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า และควรพิจารณาดำเนินโครงการแบบแบ่งเป็นระยะ เพื่อลดผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณ 5 แสนล้านบาท ไปใช้ลงทุนในโครงการที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ตัวอย่างการใช้งบประมาณที่ผ่านมา เช่น โครงการพัฒนาบุคลากรการแพทย์ ใช้วงเงิน เฉลี่ย 3.8 ล้านบาทต่อตำแหน่ง จะสามารถสร้างบุคลากรการแพทย์ได้กว่า 1.3 แสนตำแหน่ง, โครงการ เรียนฟรี 15 ปี สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ 83,000 ล้านบาทต่อปี จะสามารถสนับสนุนได้นานถึง 6 ปี, โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร 40,000 ล้านบาทต่อสาย จะพัฒนาได้กว่า 10 สาย หรือโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 1.9 แสนล้านบาทต่อสาย จะพัฒนาได้กว่า 2 สาย

ธปท. มีข้อกังวลว่า “การที่รัฐบาลจะมอบหมายให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยยังมีภาระหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส. ถึง 8 แสนล้านบาท อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงต่อฐานะการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินการตามพันธกิจ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน จึงควรมีแนวทางชดเชยค่าใช้จ่าย หรือการสูญเสียรายได้ให้แก่ ธ.ก.ส. พร้อมทั้งรับฟังความเห็นของคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ก่อนด้วย”