ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ วันนี้ (23 เม.ย. 2567) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ได้ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เรื่องขอให้ปลดหรือย้าย นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบ กรณีจอดรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (เอ็นจีวี) ยี่ห้อ BONLUCK หรือ BLK จำนวน 486 คัน และการบริหารงานล้มเหลวเสียหายต่อ ขสมก. นั้น

วันนี้ ทีมข่าว “นวัตกรรมขนส่ง เดลินิวส์” พาไปทำความรู้จักกับ “นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล” ปัจจุบันมีอายุ 45 ปี ได้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาตามกระบวนการขั้นตอนอย่างถูกต้องตามระเบียบ เข้าดำรงตำแหน่ง ผอ.ขสมก. เริ่มต้นงานวันที่ 2 ต.ค. 2564 สิ้นสุดสัญญา 1 ต.ค. 2568 สัญญาจ้าง 4 ปี โดยได้รับค่าตอบแทนอัตราเดือนละ 140,000 บาท

นายกิตติกานต์ ถือเป็น ผอ.ขสมก. คนที่ 25 นับตั้งแต่ ขสมก. ดำเนินการจัดตั้งองค์การขึ้นมา เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2519-ปัจจุบัน (23 เม.ย. 2567) ระยะเวลาเกือบ 48 ปี

สำหรับประวัติการศึกษา นายกิตติกานต์ จบปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ปริญญาโท วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโครงสร้างพื้นฐานและการบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ส่วนประวัติการทำงาน นายกิตติกานต์ เคยเป็นวิศวกรโยธา 3-7 วช. (ด้านควบคุมอาคาร) กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.), วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศที่ดิน 1 กองสำรวจและแผนที่ที่ดิน สำนักการโยธา กทม., วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานแผนงานโยธา กองแผนงานและประสานสาธารณูปโภค สำนักการโยธา กทม., ผู้อำนวยการกองการขนส่ง สำนักการจราจรและขนส่ง กทม., ผู้อำนวยการกองระบบเทคโนโลยีจราจร สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. และ ผู้อำนวยการสำนักงานระบบขนส่ง สำนักการจราจรและขนส่ง กทม.

ก่อนจะดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ ขสมก. ในปัจจุบัน โดยตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง วันที่ 2 ต.ค. 2564 จนถึงปัจจุบัน (23 เม.ย. 2567) รวม 2 ปี 6 เดือน มีการสานงานเดิม คือ การขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. โดยเฉพาะเรื่องการจัดการรถเมล์ใหม่มาให้บริการประชาชน เพื่อทดแทนรถเมล์ที่วิ่งให้บริการในปัจจุบันที่มีอายุการใช้งาน 20-30 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันแผนฟื้นฟูกิจการยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

จนกระทั่งเกิดปัญหากรณีจอดรถเมล์เอ็นจีวี 486 คัน หยุดให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2566 จนถึงปัจจุบันราว 4 เดือนแล้ว จากปัญหาการเหมาซ่อมรถ ที่มีกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ที่มี บริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) (SCN) และ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO เป็นคู่สัญญา ทำให้ไม่สามารถซ่อมรถแล้วนำมาวิ่งบริการประชาชนได้ จนทางกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO แจ้งบอกเลิกสัญญากับ ขสมก. แล้ว แต่ขณะนี้ ขสมก. ยังอยู่ระหว่างพิจารณาตามเงื่อนไขสัญญา ยังไม่มีการบอกเลิกสัญญากับคู่สัญญาแต่อย่างใด สร้างความเสียหายต่อ ขสมก., รัฐบาล และให้บริการประชาชนจำนวนมาก