เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 เม.ย. ที่ สถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด (สวพ.) สำนักงาน ป.ป.ส. (ทุ่งสองห้อง) นายอุดมชัย โลหณุต ผอ.ป.ป.ส.กทม. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจรับยาเสพติดฯ เปิดเผยถึงสถานการณ์ยาเสพติดที่ระบาดภายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า สำหรับประเทศไทยถือว่าเป็นพื้นที่ของการแพร่ระบาดของยาเสพติด ซึ่งเราจะต้องเเบ่งประเภทของยาเสพติดก่อนว่า ที่มันมีหลายประเภทและแพร่ระบาดอยู่ในประเทศไทยนั้น 80% คือ ยาบ้า ซึ่งสาเหตุที่ยาบ้ามีจำนวนแพร่ระบาดสูงสุดนั้นมันขนานไปกับสถิติการจับกุม เจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดจับกุมของกลางยาเสพติดประเภทยาบ้าได้มากที่สุด อีกทั้งตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้ให้นโยบายเรื่องการสกัดกั้น ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด ยังทำให้เราเห็นว่าในส่วนของยาบ้าที่มีการจับกุมในช่วงงบประมาณปีนี้ (ปี 67) และปี 66 มันมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 200 ล้านเม็ด ประเทศไทยถือเป็นพื้นที่แพร่ระบาดของยาบ้า ส่งผลทำให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร หนีไม่พ้นในส่วนของการแพร่ระบาด

นายอุดมชัย ผอ.ป.ป.ส.กทม. กล่าวอีกว่า ส่วนยาเสพติดที่มีการลักลอบลำเลียงเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น มีทั้งยาบ้าและไอซ์ ซึ่งก็เป็นเมทแอมเฟตามีน ออกฤทธิ์คล้ายกัน ซึ่งพอมีการลักลอบลำเลียงเข้ามาภายในประเทศไทยแล้ว ก็มีบางส่วนที่แพร่ระบาดในประเทศไทย แต่บางส่วนก็ถูกส่งออกไปยังประเทศที่สามด้วย แต่ในพื้นที่ กทม. ชั้นใน และโดยรอบปริมณฑล มักจะเป็นแหล่งเก็บพักของยาเสพติดที่ถูกลักลอบลำเลียงเข้ามาจากพื้นที่ชายแดนทั้ง 3 ด้าน จากนั้นจะถูกแยกออกเป็น 2 กรณี คือ 1.ไว้ในจุดพักยาเสพติดแล้วแพร่ระบาดใน กทม. 2.ไว้สำหรับส่งออกไปประเทศปลายทาง ซึ่งการส่งออกยาเสพติดมีทั้งการส่งออกผ่านระบบโลจิสติกส์ และลักลอบส่งทางอากาศยานและทางเรือ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ กทม. มันยังมีเรื่องเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทำให้การติดต่อซื้อขายยาเสพติดทำได้ง่ายมากขึ้น เพราะผู้ซื้อ-ผู้ขาย ไม่จำเป็นที่จะต้องรู้จักกันและไม่ต้องระแวงกัน ทำให้ กทม. กลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดของยาบ้าจำนวนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มียาเสพติดประเภทอื่นด้วย เช่น เอ็กซ์ตาซี (Ecstasy) คีตามีน แฮปปี้วอเตอร์ ลูกอมสายตี้ ซึ่งยาเสพติดประเภทนี้มักถูกใช้ในกลุ่มนักเที่ยวสถานบันเทิง

นายอุดมชัย กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่าคดีการจับกุมเรื่องยาเสพติดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.น. ได้ดำเนินการนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการขยายผลไปสู่การจับกุมได้ในพื้นที่รอยต่อ กทม. อาทิ จ.นครปฐม จ.สุพรรณบุรี จ.ปทุมธานี จ.สมุทรปราการ เป็นต้น เพราะว่าเมื่อมีการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาก็จะต้องนำไปไว้ที่จุดพักคอยก่อนจะมีการแพร่ระบาดลงไปในชุมชน ส่วนมาตรการการซีล กทม. จากการที่เราได้ประสานงานร่วมมือกับทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งมีหน้าที่ในการสืบสวนเครือข่ายที่มีการลักลอบลำเลียงยาเสพติด เราก็ได้เน้นย้ำไปที่เครือข่ายที่ใช้บริเวณจังหวัดโดยรอบกรุงเทพมหานคร เป็นแหล่งเก็บพักยาเสพติด เพื่อที่จะติดตามพฤติกรรมของกลุ่มเครือข่ายดังกล่าวโดยเฉพาะในกลุ่มของผู้รับจ้างลำเลียง ทั้งนี้ ป.ป.ส. ยังมีในส่วนของ ป.ป.ส.ภาค 1 ภาค 2 และภาค 7 ที่อยู่โดยรอบ กทม. ซึ่งเราได้มีการประสานงานกันอย่างต่อเนื่องหากพบว่ามีเครือข่ายที่มีความเชื่อมโยงจากในพื้นที่กรุงกรุงเทพมหานครและในภาค 1 ภาค 2 ภาค 7 เพื่อจะได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ก่อนเข้าติดตามจับกุมและตรวจยึดของกลาง

ส่วนเรื่องมาตรการสืบสวนทางการข่าว กรณีการลักลอบนำเข้ายาเสพติดมาภายในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น นายอุดมชัย กล่าวว่า เรื่องการข่าวถือเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่ต้องใช้กำลังคนพอสมควร รวมถึงต้องใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะการสืบสวนหาข่าวทางออนไลน์ เพราะยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดลงไปทั่วทุกพื้นที่นั้นเนื่องจากมีการค้าขายทางโซเชียลมีเดีย ตนจึงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนที่เป็นหัวใจสำคัญ หรือคนที่อยู่ในชุมชนซึ่งจะรับทราบอยู่แล้วว่าใครที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ของตัวเองแล้วมีความไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติด หากพบเบาะแส ขอให้ประชาชนร่วมแจ้งมายังสายด่วนของ ป.ป.ส. 1386 หรือตำรวจ 191 เพื่อเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่รัฐ ได้ทำการสืบสวนและช่วยลดความเดือดร้อนประชาชนตามแนวทางนโยบายของรัฐบาล.