สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ว่า กลุ่มแพทย์ดังกล่าวฟ้องร้องกูเกิล และเรียกค่าเสียหายทั้งหมด 1.4 ล้านเยน (ราว 333,000 บาท) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เพื่อต้องการให้บริษัทรับผิดชอบ ต่อการไม่ดำเนินการใด ๆ กับคำวิจารณ์ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงคลินิกของพวกเขา

“ผู้คนที่โพสต์ข้อความทางออนไลน์ สามารถพูดอะไรก็ได้โดยไม่เปิดเผยตัวตน แม้มันจะเป็นการใส่ร้าย หรือการใช้ถ้อยคำเชิงลบก็ตาม” แพทย์คนหนึ่ง กล่าว

ทั้งนี้ คดีข้างต้น ซึ่งยื่นฟ้องต่อศาลแขวงกรุงโตเกียว ถือเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่มครั้งแรกในญี่ปุ่น ซึ่งมุ่งเป้าไปที่แพลตฟอร์ม ในประเด็นเกี่ยวกับบทวิจารณ์ออนไลน์เชิงลบ

“แม้การโพสต์บทวิจารณ์สามารถทำได้อย่างง่ายดาย แต่การลบมันออกนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งสิ่งนี้อาจส่งผลให้แพทย์หลายคน ต้องทำงานภายใต้ความหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลาว่า พวกเขาจะได้รับคำวิจารณ์ที่เลวร้าย” นายยูอิจิ นากาซาวะ ทนายความฝ่ายโจทก์ กล่าวเพิ่มเติม

อนึ่ง คำร้องเรียนของกลุ่มแพทย์ระบุว่า วัตถุประสงค์ของสถาบันทางการแพทย์หลายแห่ง ไม่ใช่เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ป่วย แต่เป็นการรักษาอาการเจ็บป่วยของพวกเขา จากจุดยืนทางวิชาชีพ ซึ่งคลินิกหลายแห่งที่ทำการวินิจฉัยผู้ป่วยอย่างไม่ใส่ใจ และสั่งยาตามที่ผู้ป่วยร้องขอนั้น ถือว่ามีความไม่เหมาะสมทางการแพทย์ แต่พวกเขากลับได้รับคำชื่นชมอย่างมากจากผู้ป่วย

นอกจากนี้ ฝ่ายโจทก์ และนากาซาวะ กล่าวเตือนว่า ลักษณะของงานอาจทำให้แพทย์มีความเสี่ยง ที่จะถูกโจมตีทางออนไลน์ในบางครั้ง จากผู้ป่วยที่คับแค้นใจ ซึ่งหากสถานการณ์เช่นนี้ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข แพทย์อาจเกิดความลังเลในการตัดสินใจ และปฏิเสธการตรวจทางการแพทย์ที่ไม่จำเป็น หรือสั่งยาตามคำขอของผู้ป่วย จนนำไปสู่การสร้างความเสียหายต่อสังคมได้.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES