จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ภายใต้การกำกับของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ดำเนินการสืบสวนสอบสวนในคดีหมูเถื่อน และคดีเนื้อสัตว์เถื่อนนานาชนิดที่ถูกลักลอบเข้ามายังราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย แบ่งเป็น 3 เลขคดีพิเศษ ประกอบด้วย คดีพิเศษที่ 59/2566 หรือหมูเถื่อน 161 ตู้ คดีพิเศษที่ 126/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 2,388 ตู้ เเละคดีพิเศษที่ 127/2566 หรือคดีเนื้อสัตว์เถื่อนนานาชนิด (หมูเถื่อน ตีนไก่สวมสิทธิ โคเถื่อน) กว่า 10,000 ตู้ เพื่อขยายผลติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด หรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีพิเศษที่ 59/2566 คณะพนักงานสอบสวนได้มีการแยกเป็น 9 เลขคดีพิเศษ คือ 101/2566-109/2566 เพื่อดำเนินคดีกับรายบริษัทชิปปิ้งเอกชนโดยเฉพาะ โดยก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนได้มีการส่ง 3 สำนวนให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง อันประกอบด้วย คดีพิเศษที่ 59/2566 (หมูเถื่อน 161 ตู้) คดีพิเศษที่ 101/2566 (รายบริษัท กู๊ด วอเตอร์ อีควิปเม้นท์ จำกัด) และคดีพิเศษที่ 104/2566 (รายบริษัท อาร์.ที.เอ็นโอเวอร์ซี จำกัด) ส่วนอีก 7 สำนวนที่เหลือ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเตรียมทยอยสรุปสำนวนนำส่งให้ ป.ป.ช. และพนักงานอัยการคดีพิเศษ ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เปิดเผยว่า สำหรับคดีพิเศษที่ 59/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ พบว่ามีบริษัทชิปปิ้งเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าซากสุกรแช่แข็งเมื่อปี พ.ศ. 2565 ซึ่งตกค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี จากนั้นดีเอสไอได้สืบสวนสอบสวนขยายผลเรื่อยมาจนพบว่ามีจำนวน 10 บริษัท จึงได้มีการแยกออกเป็น 9 เลขคดี เพื่อสำหรับดำเนินการทางคดีอาญาแก่รายบริษัทโดยเฉพาะ คือ เลขคดีพิเศษที่ 101/2566-109/2566 ต่อมาคณะพนักงานสอบสวนสามารถสรุป 3 สำนวน (คดีพิเศษที่ 59/2566 คดีพิเศษที่ 101/2566 รายบริษัท กู๊ด วอเตอร์ อีควิปเม้นท์ จำกัด และคดีพิเศษที่ 104/2566 รายบริษัท อาร์.ที.เอ็นโอเวอร์ซี จำกัด) นำส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง พร้อมกับมีมติให้กล่าวหาเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ เพราะพยานหลักฐานบ่งชี้ว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ในฐานความผิด 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากรโดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243, หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ๆ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244, นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอันเป็นความผิดตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ประกอบมาตรา 68 และมาตรา 83 ตามประมวลกฎหมายอาญา
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า เมื่อมีการนำส่งให้ ป.ป.ช. ไปแล้ว 3 สำนวน จึงเหลืออีก 7 สำนวน คือ คดีพิเศษที่ 102/2566 ห้างหุ้นส่วนจำกัด กันตา ไทยโฟรเซ่นฟิช, 103/2566 บริษัท มายเฮ้าส์ เทรดดิ้ง จำกัด, 105/2566 บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด, 106/2566 ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหัสวรรษ ฟู้ดส์, 107/2566 บริษัท ซี เวิร์ล โฟรเซ่น ฟู้ดส์ จำกัด, 108/2566 บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด และ 109/2566 บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ที่ต้องดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน กระทั่งล่าสุด คณะพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนและนำส่งสำนวนคดีพิเศษที่ 105/2566 รายบริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด แก่ ป.ป.ช. พร้อมมีมติให้กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐของกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ รวม 4 ราย ตามฐานความผิดแห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ อีก 6 สำนวนที่เหลือ จะเร่งรัดดำเนินการสรุปสำนวนนำส่งให้พนักงานอัยการคดีพิเศษต่อไป
ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รรท.อธิบดีดีเอสไอ ได้กำชับและเร่งรัดการดำเนินคดีเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าซากสุกรทุกคดี เนื่องจากเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลรวมทั้งกระทรวงยุติธรรม โดยให้คณะพนักงานสอบสวนเร่งรัดการสอบสวนและสรุปสำนวนการสอบสวนที่เหลือ เพื่อมีความเห็นทางคดีเสนอต่อผู้บังคับบัญชาให้เสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย. ส่วนคดีพิเศษที่ 126/2566 กรณีการนำเข้าตู้หมูเถื่อน จำนวน 2,388 ตู้ คณะพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการขอตรวจสอบข้อมูลจากต่างประเทศผ่านกระบวนการความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ (MLAT) จาก 30 ประเทศต้นทางแล้ว.