เมื่อวันที่ 13 เม.ย. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ภาพรวมการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 67 ยังคงเรียบร้อยดี ระบบขนส่งสาธารณะสามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอในทุกโหมดการเดินทาง ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง และรับ-ส่งประชาชนทุกคนให้ถึงที่หมายด้วยความสะดวกปลอดภัย ในส่วนของถนนสายหลักมุ่งสู่ภูมิภาคต่างๆ แม้ว่ามีปริมาณรถหนาแน่น แต่จากการบริหารจัดการของกรมทางหลวง (ทล.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สภาพการจราจรยังเคลื่อนตัวได้ดี
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลระบบการเดินทางและระบบ TRAMS พบว่า การเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศ สะสม 2 วัน มีจำนวนรวม 5,633,744 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 0.99% เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ระบบขนส่งทางรางมีการใช้บริการสูงสุด คิดเป็น 45.42% ของการเดินทางทั้งหมด ส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ มีจำนวนรวม 457,012 คน-เที่ยว
ทั้งนี้ระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศที่มีผู้ใช้สูงสุดในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ 1.ภาคกลาง : ทางอากาศ (ขาออก) 91,442 คน-เที่ยว 2.ภาคใต้ : ทางถนน 69,534 คน-เที่ยว 3.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ทางถนน 80,679 คน-เที่ยว 4.ภาคเหนือ : ทางถนน 49,728 คน-เที่ยว และ 5.ภาคตะวันออก : ทางถนน 40,671 คน-เที่ยว ส่วนการจราจรเข้า-ออก กรุงเทพฯ บนทางหลวงสายหลัก 10 เส้นทาง มีปริมาณ 2,215,127 คัน เพิ่มขึ้น 4.71% เมื่อเปรียบเทียบกับวันที่ 11-12 เม.ย. 66 ขณะที่การเดินทางภายในกรุงเทพฯ บนทางด่วนมีปริมาณ 2,984,690 คัน ลดลง4.62%
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะ ณ จุดตรวจ จุดพักรถ และจุดจอด 221 แห่ง มีการตรวจรถ 28,761 คัน พบบกพร่อง 7 คัน และสั่งเปลี่ยนรถ 7 คัน ตรวจผู้ปฏิบัติงาน 28,761 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติด โดยรถไฟ มีการตรวจความพร้อมผู้ปฏิบัติงาน 86 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติดและการตรวจความพร้อมท่าเรือ/แพ 161 แห่ง ตรวจเรือ 1,660 ลำ พบข้อบกพร่อง 1 ลำ และได้สั่งห้ามเดินเรือพร้อมทั้งเปรียบเทียบปรับ และตรวจผู้ปฏิบัติงาน 2,325 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติด
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ด้านอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม เกิดขึ้นรวม 467 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 53 คน บาดเจ็บ 478 คน มูลเหตุสันนิษฐานสูงสุด คือ ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด 271 ครั้ง คิดเป็น 58% ยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุด คือ รถกระบะบรรทุก 4 ล้อ 250 ครั้ง บริเวณที่เกิดเหตุสูงสุด คือ ทางตรง 329 ครั้ง คิดเป็น 71% จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ นครราชสีมา 4 คน จังหวัดที่เกิดเหตุสูงสุด คือ กรุงเทพฯ 22 ครั้ง โดยสรุปเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (วันที่ 11-12 เม.ย.66) อุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 11% จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 8% และจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น 8% ส่วนโครงข่ายทางรางเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต และโครงข่ายทางน้ำ และทางอากาศไม่มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุ.