เมื่อวันที่ 1 ต.ค. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ลงนามในกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 5 ฉบับเรียบร้อยแล้ว ทำให้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นที่สนใจยื่นขออนุญาตและขอการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สามารถยื่นขอมาได้ โดย ขบ.จะใช้เวลาพิจารณาความถูกต้องภายใน 30 วัน หากผ่านการพิจารณาคาดว่าภายในเดือน พ.ย.64 จะมีการเริ่มเปิดให้บริการเรียกรถแท็กซี่ และรถส่วนบุคคลผ่านแอพพลิเคชั่นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เบื้องต้นคาดว่าจะมีรถสนใจเข้าร่วมแอพพลิเคชั่นไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคัน โดย ขบ.จะประเมินความพึงพอใจจากประชาชนคู่ขนานกันไปด้วย
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า สำหรับอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น (สตาร์ตมิเตอร์) รถที่เรียกผ่านแอพ อยู่ระหว่าง 40-150 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของรถว่า เป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ส่วนอัตราค่าโดยสารตามระยะทางหรือค่าโดยสารระยะทางเกินกว่า 2 กิโลเมตร (กม.)แรก คิด กม.ละ 6-16 บาทขึ้นอยู่กับขนาดของรถ ขณะที่อัตราค่าโดยสารขณะรถจอดนิ่ง หรือรถติด คิดอัตราไม่เกิน 2 บาท/นาที โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าเรียกรถได้ในอัตราไม่เกิน 20 บาท
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า แอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะมีการจัดระบบการเรียกรถไว้ตามหมวดหมู่โดยจะจัดให้รถแท็กซี่สาธารณะอยู่ในอันดับแรก รองลงมาคือ รถประเภทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรถแท็กซี่ส่วนบุคคล เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ทั้งนี้เชื่อว่าจะมีบริษัทผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นที่สนใจยื่นเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจากการเปิดรับฟังความเห็นก่อนหน้านี้ พบว่ามีเจ้าของแอพพลิเคชั่น 6 บริษัทที่แสดงความสนใจ โดยขณะนี้ได้สั่งการให้ ขบ. ขยายการจัดทำแอพพลิเคชั่นไปยังรถจักรยานยนต์ รวมทั้งจัดระเบียบรถจักรยานยนต์ที่ให้บริการขนส่งอาหารด้วย
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี ขบ. กล่าวว่า ตามขั้นตอนเจ้าของแอพพลิเคชั่นต้องยื่นเรื่องขออนุญาตไปยัง ขบ. โดยต้องมีคุณสมบัติตามกฎหมายกำหนด คือเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย, มีทุนจดทะเบียน ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท, มีสถานที่ประกอบการในไทย, มีความพร้อมในการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และต้องไม่เคยถูกเพิกถอนการได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ให้บริการระบบ GPS ตามกฎหมายของ ขบ. จากนั้น ขบ จะใช้เวลาในการพิจารณาแอพพลิเคชั่นหากเป็นไปตามหลักเกณฑ์คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 1 เดือน
รายงานข่าวแจ้งว่า อัตราค่าโดยสารแบ่งเป็น 3 ชนิด ตามประเภทของรถ คือ รถยนต์รับจ้างขนาดเล็ก ระยะทาง 2 กม.แรก 40-45 บาท ระยะทางเกินกว่า 2 กม.ขึ้นไป กม.ละ 6-10 บาท 2. รถยนต์รับจ้างขนาดกลาง ระยะทาง 2 กม.แรก 45-50 บาท ระยะทางเกินกว่า 2 กม.ขึ้นไป กม.ละ 7-12 บาท และรถยนต์รับจ้างขนาดใหญ่ ระยะทาง 2 กม.แรก 100-150 บาท ระยะทางเกินกว่า 2 กม.ขึ้นไป กิโลเมตรละ 12-16 บาท
สำหรับผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นในไทยในปัจจุบัน เช่น บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด (Grab) ทุนจดทะเบียน 2,879 ล้านบาท, บริษัท เพอร์พิล เวนเจอร์ จำกัด (Robinhood) ทุนจดทะเบียน 900 ล้านบาท, บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด (Food Panda) ทุนจดทะเบียน 204 ล้านบาท , บริษัท เวล็อคซ์ ดิจิตอล จำกัด (Gojek) ทุนจดทะเบียน 104 ล้านบาท และบริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท เป็นต้น