นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการจัดทำร่างรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) โครงการรถไฟทางคู่ ระยะ (เฟส) ที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 29,748 ล้านบาท โดยเส้นทางนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว คาดว่าจะจัดทำร่าง TOR แล้วเสร็จปลายเดือน มี.ค. 67 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการเปิดประกวดราคา (ประมูล) ต่อไป คาดว่าจะสามารถเปิดจำหน่ายเอกสารการประกวดราคาได้ภายใน 2 เดือนนับจากนี้ หรือประมาณภายในเดือน พ.ค. 67
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ รฟท. ยังได้เสนออีก 3 เส้นทางที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ได้แก่ 1.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 กม. วงเงิน 81,143 ล้านบาท 2.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 44,103 ล้านบาท และ 3.ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,900 ล้านบาท ไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว ซึ่งหาก ครม. เห็นชอบ คาดว่าภายใน 3 เดือนหลังจากนั้น รฟท. จะเริ่มขั้นตอนการเปิดประมูลได้
นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ส่วนอีก 3 เส้นทางที่เหลือ ได้แก่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 24,294 ล้านบาท, ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 67,459 ล้านบาท และช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 56,837 ล้านบาท รฟท. จะทยอยเร่งรัดผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด รฟท. กระทรวงคมนาคม และ ครม. ภายในปี 67 ซึ่งจะทำให้โครงข่ายทางรางของประเทศมีความสมบูรณ์ อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน และสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างไทย และประเทศต่างๆ ด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงขอนแก่น-หนองคาย มีระยะทาง 167 กม. ต่อจากรถไฟทางคู่จิระ-ขอนแก่น ประกอบด้วย ทางรถไฟระดับดิน 153 กม. และทางรถไฟยกระดับ 2 แห่ง 14 กม. มี 14 สถานี เป็นสถานีใหม่ 6 สถานี และปรับปรุงสถานีรถไฟเดิม 8 สถานี มีที่หยุดรถ 4 แห่ง โดยเป็นชานชาลาสูงทั้งหมด มีย่านกองเก็บตู้สินค้า (CY) 3 แห่ง ได้แก่ สถานีโนนสะอาด พื้นที่ขนาด 10,500 ตารางเมตร (ตร.ม.), สถานีหนองตะไก้ 21,750 ตร.ม. และสถานีนาทา 19,000 ตร.ม.
โครงการฯ มีพื้นที่ที่ต้องเวนคืนที่ดิน 184 ไร่ โดยจะยกเลิกจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับในปัจจุบันทั้งหมด และจะก่อสร้างถนนข้ามทางรถไฟ (Overpass) 31 แห่ง ถนนลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) 53 แห่ง และก่อสร้างรั้วตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ทั้งนี้ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย จะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จประมาณปี 70 โดยปีแรกของการเปิดให้บริการ คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 3,500 คนต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็น 5,800 คนต่อวันในปีที่ 30 ส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าอยู่ที่ 3.5 ล้านตันในปีแรก และเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 ล้านตัน ในปีที่ 30 หรือเพิ่มขึ้น 0.67% ต่อปี.