นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ว่า ขณะนี้การดำเนินงานตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของรถไฟชานเมืองสายสีแดง(รถไฟฟ้าสายสีแดง) และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ที่เริ่มนำร่องมาตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.66 ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม (Quick Win) เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน โดยจากข้อมูลตั้งแต่เริ่มดำเนินการ จนถึงวันที่ 29 ก.พ.67 หรือเกือบ 5 เดือน พบว่า ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยรวม 2 สาย 92,663 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 17.88% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนดำเนินนโยบายฯ ซึ่งผู้โดยสารอยู่ที่ 78,611 คนต่อวัน
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า สำหรับสายสีแดง ผู้โดยสารเฉลี่ย 27,542 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 27.32% โดยวันทำงาน ผู้โดยสารเฉลี่ย 30,372 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 20.16% ส่วนวันหยุด ผู้โดยสารเฉลี่ย 21,561 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 30.60% ส่วนสายสีม่วง ผู้โดยสารเฉลี่ย 65,121 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 14.29% โดยวันทำงาน ผู้โดยสารเฉลี่ย 76,178 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 7.69% ส่วนวันหยุด ผู้โดยสารเฉลี่ย 41,750 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 14.90% ทั้งนี้ปริมาณผู้โดยสารสูงสุดของสายสีแดงอยู่ที่ 39,451 คนต่อวัน เมื่อวันที่ 9 ก.พ.67 ขณะที่สายสีม่วง อยู่ที่ 83,274 คนต่อวัน เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.66
นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า ส่วนปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บัตร EMV เดินทางข้ามสายระหว่างสายสีแดง และสายสีม่วง 20 บาทตลอดสาย จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.66 ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดให้ใช้บริการข้ามสาย จนถึงวันที่ 29 ก.พ.67 มีประมาณ 5,610 คน เพิ่มขึ้นจากก่อนมีนโยบายดังกล่าว ซึ่งมีผู้ใช้บริการประมาณหลักร้อยคนต่อเดือน อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการจากการดำเนินนโยบายนี้ ถือว่าสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้การสูญเสียรายได้ของทั้ง 2 สายลดลงประมาณ 25% จากที่คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างเร่งปรับปรุง และจัดระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อการเดินทาง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชน และช่วยกระตุ้นให้มีผู้โดยสารมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วงเพิ่มขึ้นอีก เพราะหากมาใช้บริการจำนวนมาก จะส่งผลให้รายได้ที่ทั้ง 2 สายต้องสูญเสียไปลดลงอีก และการชดเชยรายได้ก็จะน้อยลงตามไปด้วย โดยคาดว่าเมื่อการดำเนินงานครบ 2 ปีทั้ง 2 สายจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และไม่ต้องมีการชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ 1 ปี ซึ่งมาตรการนี้จะหมดประมาณเดือน ต.ค.67 ดังนั้นในช่วงเดือน ส.ค.นี้ ขร. จะสรุปผลการดำเนินงานทั้งหมด และการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร รวมถึงรายได้ที่ต้องชดเชย เสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาต่ออายุการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายต่อไป
นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า ส่วนการดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ นั้น ตามนโยบายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม จะเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นได้ทุกสายภายใน 2 ปี นับจากวันแรกที่เริ่มดำเนินนโยบายฯ ทั้งนี้ ขร. ได้ประเมินเบื้องต้นว่าต้องใช้เงินชดเชยฯ ประมาณ 8 พันล้านบาทต่อปี โดยในเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษาข้อกฎหมาย รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ว่าสามารถดำเนินการในแนวทางใดได้บ้าง ตลอดจนพิจารณาเรื่องระบบการจัดเก็บค่าโดยสาร ที่จะต้องมีความเหมาะสม และตรวจสอบได้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าที่ให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มี 8 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ประกอบด้วย สายสุขุมวิท ช่วงคูคต-เคหะ และสายสีลม ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า, รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ, รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี, รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง, รถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ โดยดำเนินนโยบายฯ ไปแล้วกับรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง.