บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ และคำร้องขอแก้ไขแผนตามมติจากที่ประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 4 ส.ค.64 ซึ่งจะมีผลให้ผู้บริหารแผนที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบด้วย 1. นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร 2. นายไต้ ชอง อี 3. นายปริญญา ไววัฒนา และ 4. นายชวลิต อัตถศาสตร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารแผน มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัท ตลอดจนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป
ทางบริษัทฯ ขอขอบคุณเจ้าหนี้ทุกคน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการฟื้นฟูกิจการที่ให้การสนับสนุนและเชื่อมั่นในแผนฟื้นฟูกิจการ ทางบริษัทฯ เชื่อมั่นว่าผู้บริหารแผนจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการประสบความสำเร็จโดยเร็ว สำหรับการดำเนินงานหลังจากนี้ จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานมากขึ้น ส่งผลโดยตรงกับการบริหาร และการจัดการเที่ยวบิน การคืนเงินค่าบัตรโดยสารแก่เจ้าหนี้ โดยบริษัทฯ ตระหนักถึงความคิดเห็นของผู้โดยสารทุกคนมาโดยตลอด และมิได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
จึงได้ปรับปรุงการดำเนินงานเร่งด่วนดังนี้ บริษัทสามารถใช้วงเงินกู้ที่เหลืออยู่จากผู้ถือหุ้น เพื่อเสริมสภาพคล่องต่อไปได้ ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทฯ ไม่สามารถใช้วงเงินกู้ที่เหลืออยู่ได้ เนื่องจากช่วงการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการนั้น บริษัทไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้ แต่เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ทำให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจเต็มในการเข้าทำสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการบิน ไม่ว่าจะเป็น สัญญาการซ่อมบำรุงเครื่องบิน สัญญาการบริหารอะไหล่เครื่องบินเพื่อลดระยะเวลาการซ่อมบำรุง และการที่บริษัทมีสภาพคล่องทางการเงิน ฝ่ายบริหารจะปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารจัดการเที่ยวบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้สามารถลดปัญหาการยกเลิกเที่ยวบินลงได้
นอกจากนี้ได้เพิ่มคู่สาย และช่องทางการติดต่อผ่านทาง Facebook Messenger และอื่นๆ รวมถึงการประชาสัมพันธ์มาตรการการเดินทางเข้าออกของแต่ละจังหวัดให้กับผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในช่วงที่มีมาตรการควบคุมการเดินทาง ทำให้มีผู้โดยสารติดต่อเข้ามายังคอลเซ็นเตอร์เป็นจำนวนมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างขออนุมัตินำเครื่องบินรุ่น Boeing 737-800 เข้ามาให้บริการเพิ่มเติม 6 ลำ และเตรียมพร้อมเปิดเส้นทางใหม่สู่สนามบินนครราชสีมา อู่ตะเภา (ระยอง) หัวหิน (ประจวบคีรีขันธ์) และเบตง (ยะลา) เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่จังหวัดที่ยังไม่มีเที่ยวบินแบบประจำให้บริการหรือมีจำนวนไม่มาก.