“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า ขณะนี้การก่อสร้างสะพานรถไฟโค้งหล่อสำเร็จ (Backfilled arch bridge) แห่งแรกของประเทศไทย บริเวณ กม.539+700 ต.ปงป่าหวาย อ.เด่นชัย จ.แพร่ ซึ่งอยู่ในโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ สายเหนือ ช่วงเด่นชัย–เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 7.29 หมื่นล้านบาท มีความคืบหน้ากว่า 90% อยู่ระหว่างติดแผ่นกันน้ำซึมทั่วทั้งโครงสร้าง โดยสะพานยาว 33.6 เมตร กว้าง 16.46 เมตร หนา 30.5 เซนติเมตร สูงจากพื้นถนน 4.2 เมตร คาดว่าโครงสร้างจะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.67 จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนงานถมดินคันทางรถไฟต่อไป ซึ่งการถมดินจะสูง 5 เมตรจากพื้นดินถึงรางรถไฟ
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า การนำเทคโนโลยีสะพานโค้งมาใช้กับทางรถไฟ เป็นเทคโนโลยีของ BEBO Arch จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ช่วยลดเวลาการก่อสร้างจากเดิมได้ 1 เท่า ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 10-20% ช่วยลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ซีเมนต์ และเหล็ก อีกทั้งสามารถเพิ่มความสูงให้กับทางลอด (Clearance) ได้มากกว่าการทำสะพานแบบเดิม ทั้งนี้จะใช้ก่อสร้างทั้ง 3 สัญญา ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการในสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ซึ่งเริ่มก่อสร้างจุดที่ 2 แล้วบริเวณ กม.538+944 ต.ปงป่าหวาย อ.เด่นชัย จ.แพร่ ตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ห่างจากจุดแรกประมาณ 1.5 กม. โดยสัญญานี้ใช้สะพานรถไฟโค้งประมาณ 22-25 ตัว
ส่วนการก่อสร้างสะพานฯ ในสัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ อยู่ระหว่างเตรียมการ ซึ่งทั้ง 2 สัญญาใช้สะพานรถไฟโค้งรวมประมาณ 18 ตัว โดยการทำสะพานโค้ง ไม่ได้ทำในทุกจุด เพราะบางจุดที่กายภาพของถนนไม่เหมาะสม อาจต้องใช้สะพานรูปแบบเดิม อาทิ ถนนที่มีมุมตัดเอียงมากๆ หากใช้สะพานโค้งต้องถมดินด้านหลังค่อนข้างมาก และจะทำให้ความยาวของสะพานมากเกินไป เป็นต้น อย่างไรก็ตามการก่อสร้างในจุดที่ 1 ทำให้ทีมงานได้เรียนรู้การทำงานแล้ว มั่นใจว่าการก่อสร้างในจุดอื่นๆ จะทำให้การทำงานง่าย และรวดเร็วขึ้น ซึ่งในจุดที่ 2 จะแล้วเสร็จประมาณต้นเดือน เม.ย.นี้ โดยใช้เวลาการทำงานที่เร็วกว่าจุดแรกจากประมาณ 3 เดือนเหลือ 1.5 เดือน
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า การออกแบบโครงสร้างสะพานฯ โครงการนี้มี 2 ลักษณะ คือ 1. สะพานปกติ ซึ่งจะทำมุมกับทางลอด ตัดตรงประมาณ 90 องศากับทางรถไฟ (Skew 0 องศา) และ 2. สะพานรองรับแนวเฉียง ซึ่งจะทำมุมกับทางลอด ตัดตรงประมาณ 15 องศากับทางรถไฟ (Skew 15 องศา) พร้อมปากเฉียง (Bevelled) โดยโครงสร้างรูปแบบนี้มีความยาวสะพาน 40.8 เมตร ยาวกว่าสะพานปกติ 7.2 เมตร และเป็นแบบที่สวิตเซอร์แลนด์ออกแบบให้กับประเทศไทยเป็นครั้งแรกของโลก จะนำมาใช้กับจุดตัดถนน และรถไฟ ที่ไม่ได้ตัดตรง 90 องศา อย่างไรก็ตาม การใช้โครงสร้างสะพานรองรับแนวเฉียง มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าสะพานปกติ ดังนั้นจุดใดที่ชาวบ้านยินยอมให้ปรับแนวถนนช่วยให้เป็นจุดตัด 90 องศาได้ ก็จะใช้สะพานปกติที่ต้นทุนต่ำกว่า เพราะโครงสร้างสั้นกว่า
สำหรับขั้นตอนการทำสะพานจะเริ่มจากการทำฐานราก จากนั้นจะนำชิ้นส่วนโค้งหล่อสำเร็จที่มีการหล่อชิ้นงานคอนกรีตที่โรงงานใน จ.พระนครศรีอยุธยา มาประกอบกันในพื้นที่ก่อสร้าง ใช้เวลาติดตั้งประมาณ 3 วัน และจะทำการหล่อคอนกรีตเชื่อมชิ้นงาน ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการบดอัดดินต่อไป ซึ่งในการดำเนินงานสามารถปิดการจราจรแบบวันต่อวันได้ ไม่จำเป็นต้องปิดการจราจรเป็นเดือน ทั้งนี้ปกติการก่อสร้างสะพานที่ผ่านมา 1 ตัว ต้องมีการทำฐานราก เสาและวางคาน ใช้เวลาก่อสร้างจนแล้วเสร็จอย่างต่ำประมาณ 6-8 เดือน
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ปัจจุบันภาพรวมงานก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ สายเหนือ ช่วงเด่นชัย–เชียงราย–เชียงของ มีความคืบหน้า 6.695% เร็วกว่าแผน 0.485% โดยสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. คืบหน้า 6.499% เร็วกว่าแผน 3.443%, สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. คืบหน้า 7.766% เร็วกว่าแผน 0.014% และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. คืบหน้า 5.548% ช้ากว่าแผน 2.913% คาดว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จ และเปิดบริการในปี 71