รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า สำนักแผนงาน จัดประชุมปัจฉิมนิเทศ โครงการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น การพัฒนาระบบโครงข่ายทางหลวง เชื่อมต่อสถานีรถไฟทางคู่แนวใหม่ สายบ้านไผ่-นครพนม พื้นที่ จ.มุกดาหาร และ จ.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 4-5 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อสรุปผลการดำเนินโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้เข้าร่วมประชุม พบว่า ผู้ร่วมประชุมเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว ทำให้การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างทางถนนและรถไฟสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย หลังจากนี้จะสรุปผลการศึกษาเสนอ ทล. เพื่อบรรจุไว้ในแผนพัฒนาทางหลวง รวมทั้งส่งแผนโครงการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปดำเนินการพัฒนาโครงการต่อไป
ผลการศึกษาโครงการมีรูปแบบการพัฒนาแบ่งเป็น 3 ลักษณะ งบประมาณรวม 37,703 ล้านบาท ระยะทาง 381.8 กิโลเมตร (กม.) ได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงบริเวณทางเข้า-ออกสถานีรถไฟ จำนวน 18 โครงการ (สถานี) งบประมาณ 1,465 ล้านบาท มีแผนของบประมาณดำเนินการในปี 69-70 แล้วเสร็จ เปิดบริการในปี 71 สอดคล้องกับการเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-นครพนม
ซึ่งการปรับปรุงบริเวณทางเข้า-ออกสถานีรถไฟ จะปรับปรุงทางหลวงที่เชื่อมต่อสถานีรถไฟแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะมีทั้ง ทล. รับผิดชอบ และ ถนนที่หน่วยงานอื่นในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เช่น กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และถนนของท้องถิ่น นอกจากนี้จะดำเนินการถนนทางเข้าย่านสถานีเชื่อมกับถนนสายหลัก จัดเตรียมพื้นที่จอดรถสำหรับผู้โดยสารที่มาใช้บริการ เพื่อเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ และจัดการจราจรภายในย่านสถานีให้สะดวก และปลอดภัย
สำหรับ 18 สถานี ดังนี้ 1.สถานีภูเหล็ก 2.สถานีกุดรัง 3.สถานีบรบือ 4.สถานีมหาสารคาม 5.สถานีร้อยเอ็ด 6.สถานีเชียงขวัญ 7.สถานีโพธิ์ชัย 8.สถานี อ.โพนทอง 9.สถานีหนองพอก 10.สถานีเลิงนกทา 11.สถานีนิคมคำสร้อย 12.สถานีมุกดาหาร 13.สถานีสะพานมิตรภาพ 2 14.สถานีหว้านใหญ่ 15.สถานีธาตุพนม 16.สถานีเรณูนคร 17.สถานีนครพม และ 18.สถานีสะพานมิตรภาพ 3
2.โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจรทางหลวงเดิม พิจารณาจากปริมาณการเดินทางว่าเส้นทางใดเกิดความหนาแน่นจนเกินความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรบนเส้นทางดังกล่าว จากนั้นเสนอการขยายเส้นทางนั้น จากเดิมเป็นขนาด 2 ช่องจราจร เป็น 4-6 ช่องจราจร เพื่อรองรับปริมาณการจราจรได้ จำนวน 12 โครงการ ระยะทาง 313.97 กม. งบประมาณ 23,458 ล้านบาท มีแผนดำเนินงานในระยะ 20 ปี (ปี 70-89)
สำหรับ 12 โครงการ ดังนี้ 1.โครงการก่อสร้าง ทล.2044 (ร้อยเอ็ด-โพนทอง) (ระยะที่ 1) จ.ร้อยเอ็ด 28.28 กม. 2.โครงการก่อสร้าง ทล.2044 (ร้อยเอ็ด-โพนทอง) (ระยะที่ 2) จ.ร้อยเอ็ด 11.20 กม. 3.โครงการก่อสร้าง ทล.2116 บรรจบ ทล.2047 (โพนทอง-เลิงนกทา) จ.ยโสธร 60.31 กม. 4.โครงการก่อสร้าง ทล.212 (เลิงนกทา-นิคมคำสร้อย) จ.มุกดาหาร 21.03 กม. 5.โครงการก่อสร้าง ทล.2046 บรรจบ ทล.12 (โพนทอง-กุฉินารายณ์) จ.ร้อยเอ็ด 20.08 กม. 6.โครงการก่อสร้าง ทล.23 (มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด) จ.มหาสารคาม 31.85 กม.
7.โครงการก่อสร้าง ทล.212 (นิคมคำสร้อย-มุกดาหาร) จ.มุกดาหาร 17.40 กม. 8.โครงการก่อสร้าง ทล.212 (มุกดาหาร-ธาตุพนม) จ.มุกดาหาร 36.89 กม. 9.โครงการก่อสร้าง ทล.2276 (หนองฮี-ปลาปาก) (ระยะที่ 1) จ.นครพนม 11.24 กม. 10.โครงการก่อสร้าง ทล.2276 (หนองฮี-ปลาปาก) (ระยะที่ 2) จ.นครพนม 13.61 กม. 11.โครงการก่อสร้าง ทล.23 (บ้านไผ่-มหาสารคาม) จ.มหาสารคาม 53.47 กม. และ 12.โครงการก่อสร้าง ทล.297 ทางเลี่ยงเมืองธาตุพนม จ.นครพนม 8.61 กม.
และ 3.โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมโยงการเดินทางจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง เพื่อเบี่ยงเบนปริมาณการจราจรที่ไม่จำเป็นต้องใช้เส้นทางที่เชื่อมต่อทางเข้า-ออกสถานีรถไฟ ลดความหนาแน่นการจราจร จำนวน 8 โครงการ 67.83 กม. งบประมาณ 12,780 ล้านบาท มีแผนดำเนินการระยะ 20 ปี (ปี 70-89) ซึ่ง 8 โครงการ หากจะดำเนินโครงการต้องศึกษาออกแบบในรายละเอียดแนวเส้นทาง รูปแบบ จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน งบประมาณ และแผนก่อสร้างแต่ละโครงการต่อไป เนื่องจากการศึกษาครั้งนี้ จะเป็นการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นเท่านั้น
สำหรับ 8 โครงการ ดังนี้ 1.โครงการแยก ทล.23 (บ.ดอนบม)-บรรจบ ทล.2040 (แวงน่าง) จ.มหาสารคาม 7.57 กม. 2.โครงการแยก ทล.12 (บ้านกุดโง้ง)-บรรจบ ทล.238 (ทางเลี่ยงเมืองมุกดาหาร) จ.มุกดาหาร 4.50 กม. 3.โครงการแยก ทล.212 (บ.ดอนม่วย)-บรรจบ ทล.238 (ทางเลี่ยงเมืองมุกดาหาร) จ.มุกดาหาร 6.24 กม. 4.โครงการแยก ทล.23 (เทศบาล ต.อุ่มเม้า)-บรรจบ ทล.214 (จังหาร) (ระยะที่ 1) จ.ร้อยเอ็ด 14.29 กม.
5.โครงการแยก ทล.23 (เทศบาล ต.อุ่มเม้า)-บรรจบ ทล.214 (จังหาร) (ระยะที่ 2) จ.ร้อยเอ็ด 5.43 กม. 6.โครงการแยก ทล.212 (กุดแห่)-บรรจบ ทล.212 (โคกสำราญ) ระยะที่ 1 ด้านตะวันตก จ.ยโสธร 9.32 กม. 7.โครงการแยก ทล.212 (กุดแห่)-บรรจบ ทล.212 (โคกสำราญ) ระยะที่ 2 ด้านใต้ จ.ยโสธร 16.21 กม. และ 8.โครงการแยกทางแนวใหม่ ทล.2276 ตัด ทช. นพ.4038 บรรจบ ทล.2276 (เลี่ยงเมืองปลาปากตะวันออก) จ.นครพนม 4.27 กม.
โครงการศึกษาแนวโครงข่ายทางหลวงบริเวณรอบแนวเส้นทางรถไฟแนวใหม่ สายบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 354.783 กม. จำนวนสถานีและป้ายหยุดรถ 31 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) จุดเริ่มต้นโครงการชุมทางบ้านหนองแวงไร่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ผ่าน จ.มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร สิ้นสุดที่สถานีสะพานมิตรภาพ 3 จ.นครพนม
โครงการนี้จะช่วยยกมาตรฐานการพัฒนาระบบเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งทางรถไฟกับทางถนนให้สมบูรณ์ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รองรับผลกระทบการจราจรที่เกิดจากกิจกรรมระบบคมนาคมขนส่งทางรถไฟและถนนในอนาคต