เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์บน ร.ล.อ่างทอง ที่จอดทอดสมออยู่ใกล้จุดที่ ร.ล.สุโขทัย อับปาง พล.ร.อ.ชาติชาย ทองสะอาด ผบ.กร.ในฐานะ ผอ.กองอำนวยการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัย, พล.ร.ต.วิชชุ บำรุง ผบ.หมวดเรือค้นหาและปลดวัตถุอันตรายฯ, เรือตรีธงบุญ เพ็ญแก้ว หัวหน้าชุดประดาน้ำ และ Lt.William Rittenhouse ผบ.เฉพาะกิจชุดประดาน้ำผสม ได้มีการแถลงข่าวปิดการปฎิบัติการกู้เรือหลวงสุโขทัย

พล.ร.อ.ชาติชาย ทองสะอาด เปิดเผยว่า การปฎิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตราย ร.ล.สุโขทัย เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ทร. และ ทร.สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 22 ก.พ. ถึง 11 มี.ค.2567 รวมระยะเวลา 19 วัน โดยมี 4 ภารกิจ ดังนี้

  1. การค้นหาผู้สูญหายทั้ง 5 คนที่่อาจติดอยู่ภายในตัวเรือและบริเวณรอบตัวเรือในทุกห้องที่สามารถเข้าไปได้รวมทั้งห้องที่มีความเป็นไปได้ที่คนจะติดอยู่ แต่เนื่องจากความลึกของน้ำและข้อจำกัดในการเข้าถึงห้องต่างๆ ภายในตัวเรือในชั้นที่ต่ำกว่าดาดฟ้าหลัก รวมทั้งความเสี่ยงในระดับสูงต่อนักดำน้ำทำให้เราไม่สามารถเข้าไปได้ทุกห้องโดยห้องที่เราเข้าไปค้นหา ได้แก่ สะพานเดินเรือ ห้องศูนย์ยุทธการ ห้องผู้บังคับการเรือ ห้องวิทยุ ห้องโถงนายทหาร ห้องเมสพันจ่า ห้องเมสจ่า ห้องเครื่องจักรใหญ่ ห้องพลาธิการ ห้องเรดาห์ 2 ห้องเก็บแผนที่ และช่องทางเดินซึ่งผลการค้นหาไม่พบผู้สูญหาย
  2. การตรวจสอบวัตถุพยานที่ตัวเรือเพื่อประกอบการสอบสวนข้อเท็จจริง ถึงสาเหตุอับปางของ ร.ล.สุโขทัย ซึ่งได้ทำการสำรวจจุดต่างๆ ที่สันนิษฐานว่าเป็นจุดที่น้ำเข้าเรือโดยได้บันทึกทั้งภาพถ่ายและวีดีโอได้แก่บริเวณแผ่นกันคลื่นหน้าป้อมปืน 76/62 มม. ป้อมปืน 76/62 มม. ฝา Hatch ลงห้องกระชับหัวเรือ ฝา Hatch ทางลงห้อง Gun Bay ประตูผนึกน้ำรอบตัวเรือ รอยทะลุทางกราบซ้าย 2 รอย สำรวจรอบตัวเรือเพื่อหารอยทะลุอื่นๆ การปิด/เปิดประตูผนึกน้ำภายในตัวเรือ สภาพแท่นแพชูชีพ ป้อมปืน 40/70 มม. นอกจากนั้นยังได้เก็บวัตถุพยานอื่นได้แก่ โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง เครื่อง DVR เสื้อชูชีพ 1 ตัว คอมพิวเตอร์ Laptop 1 เครื่อง และสมุดจดคำสั่งการนำเรือ 1 เล่ม ซึ่งได้หลักฐานครบถ้วนตามที่ คกก.สอบสวนฯ ข้อเท็จจริงต้องการโดยไม่ต้องนำเรือขึ้นมาทั้งลำ
  3. การปลดวัตถุอันตรายและการทำให้ยุทโธปกรณ์หมดขีดความสามารถ จำนวน 3 รายการ ได้แก่ อาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูน ตอร์ปิโดMK309 และเครื่องมือสื่อสาร นอกจากนี้ยังได้นำอาวุธของ ทร. ขึ้นจากเรือได้แก่ ปืนกล 20 มม. ปลย.เอ็ม16 และ ปฃย.แบบ88
  4. การนำสิ่งของมีคุณค่าทางจิตใจของ รล.สุโขทัยขึ้นมาเพื่อเตรียมจัดทำอนุสรณ์สถาน ได้แก่ ป้ายชื่อเรือสุโขทัย พญาครุฑประจำเรือ พระพุทธรูปประจำเรือ พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ แผ่นนูนรูปเสด็จเตี่ย ระฆังเรือ ธงราชนาวีผืนใหญ่ เสากระโดงเรือ สมอเรือ ป้ายขึ้นระวางประจำการเรือ และป้ายทำเนียบผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย

ในห้วง 19 วันมีการดำน้ำทั้งสิ้น 83 เที่ยว รวมระยะเวลาดำน้ำ 65 ชั่วโมง 15 นาที กำลังพลทุกนายปลอดภัยดี สำหรับ ร.ล.สุโขทัย อยู่ในสภาพไม่มีผลกระทบต่อการเดินเรือหลังจากที่ได้ทำการตัดเสากระโดงเรือความสูง 4.5 เมตรออกอีกส่งผลให้มีความปลอดภัยในการเดินเรือเพิ่มขึ้น จากเดิมส่วนที่สูงที่สุดของเรือถึงผิวน้ำ ระยะ 27 เมตร เพิ่มระยะเป็น 31.5 เมตร ไม่มีวัตถุและสิ่งที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีวัตถุอันตรายที่มีผลกระทบต่อและสิ่งมีชีวิตในทะเล

หลังจากนี้จะนำสิ่งของที่เก็บกู้ได้ส่งหน่วยงานที่รับผิดชอบทำการตรวจสอบและดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบต่อไป ซึ่งทางเรือ Ocean Valor จะนำสิ่งของทั้งหมดไปส่งที่ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบในวันพรุ่งนี้ (12 มี.ค.) และในส่วนของ คกก.สอบสวนข้อเท็จจริงจะสรุปผลการสอบฯ จากข้อมูล พยาน และวัตถุที่เก็บกู้ได้ในครั้งนี้และจะทำการแถลงข่าวต่อไป นอกจากนี้จะได้มีการจัดสร้างอนุสรณ์สถาน ร.ล.สุโขทัย โดยใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ถอดถอนจากเรือในครั้งนี้เพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญและความเสียสละของกำลังพลที่เสียชีวิตและสูญหายต่อไป พล.ร.อ.ชาติชาย กล่าว

ด้าน Lt.William Rittenhouse ผบ.ภารกิจปฎิบัติการร่วม เปิดเผยว่า ทีมนักดำน้ำไทย-สหรัฐได้ดำเนินการทั้ง 4 ส่วนของภารกิจ ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ ขนมาจากรัฐฮาวายเพื่อมาร่วมภารกิจนี้ โดยมีการฝึกร่วมกับทีมดำน้ำไทย 2 วันก่อนเริ่มปฎิบัติการ ซึ่งทีมนักดำน้ำได้ปฎิบัติงานร่วมงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทางทีมดำน้ำผสมได้มีการค้นหาผู้สูญหายร่วมกันอย่างสุดความสามารถ ซึ่ง ณ ปัจจุบันสภาพเรือหลวงสุโขทัย อยู่ในสภาพที่ไม่เป็นอันตรายใดๆ คิดว่าหลังจากนี้คงจะไม่มีการทำอะไรกับ ร.ล.สุโขทัยอีก