นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ร่วมประชุมหารือกับนาย Damien Cazé ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (DGAC France) ณ โรงแรม Prince de Galles กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยได้หารือในหลายประเด็นสำคัญถึงความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้า และยั่งยืนในระยะยาวต่อไป ทั้งนี้ได้แสดงความขอบคุณ DGAC France ที่มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน และสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ (Memorandum of Understanding on Technical Cooperation) มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การแก้ไขปัญหาด้านการบินในช่วงที่ผ่านมามีประสิทธิผลที่ดี อีกทั้งยังทำให้การพัฒนาระบบการบินของไทยมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาใหม่ๆ ที่มีความสำคัญต่อบทบาทของไทยในฐานะรัฐภาคีขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การหารือครั้งนี้ได้พิจารณาถึงการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ระบบนิเวศทางการบินในอนาคต ซึ่งจะมีอากาศยานไร้คนขับ (Drone) หลากหลายประเภทเข้ามาใช้งาน ทั้งการใช้งานสำหรับวัตถุประสงค์ทั่วไป และความท้าทายในการนำอากาศยานประเภท eVTOL (Electric Vertical Take-offand Landing) ซึ่งใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ หรือ UAM (Urban Air Mobility) ที่เป็นการใช้อากาศยานขนาดเล็กในการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าในระดับการบินต่ำในเขตเมืองเข้ามาใช้งาน
นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการยกระดับการดำเนินงานด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อภาคการบินในปัจจุบัน รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมการบิน ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการบิน (Decarbonization) ผ่านการใช้เชื้อเพลิงพลังงานที่ยั่งยืน (SAF: Sustainable Aviation Fuel) ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญของโลกในปัจจุบัน และเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ
ขณะเดียวกันในการหารือครั้งนี้ ยังได้เชิญชวนภาคเอกชั้นนำจากภูมิภาคยุโรปมาร่วมลงทุนกับประเทศไทยได้แก่ บริษัท SATYS (ซาทิส) บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสที่ดําเนินกิจการด้านทําสีอากาศยาน และตกแต่งภายในอากาศยานและรถไฟ ดําเนินงานให้กับ Airbus, Boeing, Stelia Aerospace และ Air France อีกทั้งเชิญชวนบริษัท Volocopter (โวโล คอปเตอร์) บริษัทสัญชาติเยอรมันที่ดําเนินการด้านการพัฒนาการเคลื่อนย้ายทางอากาศในเขตเมืองและชานเมือง (UAM) และมีการผลิตยานพาหนะที่สามารถบินขึ้น และลงจอดในแนวดิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (eVTOL) อาทิ VoloCity และ VoloConnect หรือที่เรียกว่าแท็กซี่อากาศ (Air Taxi) ที่จะให้บริการขนส่งผู้โดยสารและ VoloDrone ที่จะให้บริการขนส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัยและปลอดมลพิษ
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ในโอกาสนี้ยังได้ประชุมหารือกับบริษัท CMA CGM จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการขนส่งทางทะเล อันดับที่ 3 ของโลก และบริษัท Artelia จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษา ออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้างที่มีสาขากว่า 40 ประเทศทั่วโลก เพื่อนำเสนอโครงการและเชิญชวนนักลงทุน พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อนำมาพัฒนารูปแบบการลงทุนในโครงการฯ อย่างไรก็ตามทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว ได้ให้ความสนใจและสอบถามรายละเอียดโครงการฯ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ โดยได้มีการแลกเปลี่ยนช่องทางการติดต่อ เพื่อประสานข้อมูลอย่างใกล้ชิดต่อไป
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า การเดินทางมาประชุมร่วมกับฝรั่งเศสครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐฝรั่งเศสแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีในการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการขนส่งและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจกับภาคเอกชน อันจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตต่อไป.