น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในกลางเดือน ต.ค.นี้ ธปท.เตรียมออกมาตรการใหม่เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการรวมหนี้ข้ามสถาบันการเงิน ระหว่างสินเชื่อที่มีหลักประกัน กับสินเชื่อไม่มีหลักประกัน เช่น หนี้บ้านรวมกับหนี้บัตรเครดิต จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องของดอกเบี้ยแก่ลูกหนี้และประชาชน

โดยจะมีมาตรการจูงใจสถาบันการเงิน เช่น เรื่องเกณฑ์การจัดชั้นหรือผ่อนหลักเกณฑ์เอื้อให้ออกมาตรการรวมหนี้ และมาตรการจูงใจลูกหนี้ เช่น ห้ามสถาบันการเงินคิดค่าธรรมเนียมชำระเงินกู้คืนก่อนครบกำหนด (Prepayment Fee) ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดดอกเบี้ยได้ถึง 15%

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท.สนับสนุนการรวมหนี้บ้างแล้วแต่เป็นการรวมในสถาบันการเงินเดียวกัน ซึ่งไม่ได้รับความสนใจมากนัก เพราะลูกหนี้คิดว่าเมื่อนำสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคลไปรวมกับสินเชื่อบ้านซึ่งมีหลักประกัน ถ้าเกิดปัญหาค้างชำระจะโดนยึดบ้านหรือไม่ ทำให้ ธปท.ต้องส่งเสริมความรู้ทางการเงินมากขึ้นด้วย

สำหรับปัจจุบันเพดานหนี้บัตรเครดิต อยู่ที่ 16%, สินเชื่อบุคคล 25%, สินเชื่อจำนำทะเบียน 24% และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 33% ต่อปี โดยหากรวมหนี้กับสินเชื่อบ้านที่มีดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ 6-8% จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกเรียกเก็บหลังรวมหนี้จะไม่เกิน 10% และห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพรีเพย์เมนต์ รวมทั้งจะมีมาตรการจูงใจ หวังผลักดันให้ตลาดเกิดการแข่งขันขึ้นมา เป็นประโยชน์ลดภาระให้ประชาชน และสถาบันการเงินสามารถนำเงินในส่วนที่ลดอัตรานำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) มาส่งผ่านให้ประชาชนได้ด้วย

“เงินนำส่งเอฟไอดีเอฟที่ลดให้แบงก์ แบงก์จะต้องบอกได้ว่าจะส่งผ่านไปสู่ประชาชนอย่างไร ซึ่งการรวมหนี้นี้สามารถนำมาใช้จ่ายส่วนนี้ได้ และธปท.จะออกกรอบคำนวณว่าอัตราดอกเบี้ยหลังรวมหนี้จะเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้กำหนดเป็นอัตราที่แน่นอนขึ้นอยู่กับความเสี่ยง ขณะที่บางนอนแบงก์ที่ไม่ได้มีหนี้ที่มีหลักประกัน ซึ่งเมื่อมีมาตรการนี้อาจทำให้ลูกหนี้ย้ายมารวมกับสถาบันการเงินได้ นอนแบงก์เองก็ต้องยอมปล่อยลูกหนี้ออกมา จะบังคับไม่ให้ปิดหนี้เดิมไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า เมื่อมีเงินไปปิดเจ้าหนี้ก็ต้องรับไว้ ปฏิเสธไม่ได้”

น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ส่วนการลดเพดานดอกเบี้ย อาจทำให้คนมีความเสี่ยงด้านเครดิต หันไปกู้นอกระบบได้ ซึ่งอาจส่งผลเสียในระบบตามไปด้วย และอาจส่งผลเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมด้วย ที่ผ่านมา ธปท.ได้ลดดอกเบี้ยลงเรื่อย ๆ แต่ภาวะเครดิตเสี่ยงสูง ข้อเสียอาจมากกว่าได้ ซึ่งการช่วยลูกหนี้ตรงกลุ่ม ปรับโครงสร้างหนี้ รวมหนี้ จะได้ผลมากกว่า แต่การลดเพดานดอกเบี้ยไม่ได้ปิดประตู ยังเป็นตัวเลือก ถ้าช่วงเวลาไหนเหมาะสมกับการลดเพดานดอกเบี้ยก็พิจารณาได้

ส่วนความคืบหน้าของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดย ณ สิ้นเดือน ก.ค. 64 มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือ 5.12 ล้านบัญชี คิดเป็น 3.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ 2 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 2.1 ล้านล้านบาท และลูกหนี้แบงก์รัฐ 3.12 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 1.25 ล้านล้านบาท ด้านสินเชื่อฟื้นฟู ณ วันที่ 20 ก.ย.64 ปล่อยแล้ว 106,156 ล้านบาท คิดเป็น 34,538 ราย และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 15,167 ล้านบาท ผู้ได้รับความช่วยเหลือ 106 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม โรงงาน และสปา