“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ว่า ภาพรวมการดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ยังเดินหน้าต่อเนื่อง โดยงานก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 และงานปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 1, 2 พร้อมอาคารจอดรถยนต์ ท่าอากาศยานกระบี่ วงเงิน 2.92 พันล้านบาท มีความคืบหน้า 94.70% ปัจจุบันเปิดใช้งานอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 ซึ่งเป็นอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ล่าสุดแล้วตั้งแต่ปลายปี 66 โดยให้บริการทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่เชื่อมต่อกัน กำลังเร่งปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 1 เพื่อใช้เป็นพื้นที่ให้บริการภายในประเทศ ทั้งนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดใช้งานอาคารทั้ง 3 หลังเต็มรูปแบบประมาณเดือน พ.ค.67
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ยอมรับว่าในการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ทย. มีความจำเป็นต้องปรับแบบการก่อสร้าง จากเดิมได้ออกแบบโดยนำลักษณะของเรือหัวโทง ที่เป็นสัญลักษณ์เด่นเฉพาะถิ่นของ จ.กระบี่ มาใช้เป็นรูปทรงหลักของอาคาร มีหัวเรือหัวโทงทั้ง 2 ด้านของอาคาร แต่ปรากฏว่า เมื่อก่อสร้างจริง พบว่าการสร้างอาคารตามแบบเดิม จะทำให้หัวเรือหัวโทงอีก 1 ด้าน บดบังศูนย์ควบคุมจราจรทางอากาศ (หอบังคับการบิน) เจ้าหน้าที่จะไม่สามารถมองเห็นหัวทางวิ่ง (รันเวย์) ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในการควบคุม และจัดจราจรทางอากาศ อีกทั้งเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินด้วย จึงต้องนำหัวเรือหัวโทงออก 1 ด้าน
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ทย. ยังคงให้ความสำคัญกับการนำอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนา และออกแบบการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร เพื่อเผยแพร่ความเป็นไทย และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้โดยสาร โดยในส่วนของท่าอากาศยานกระบี่ ยังได้นำเส้นสายการสาน และลวดลายของเสื่อปาหนัน ซึ่งเป็นเสื่อพื้นถิ่นของจังหวัด และองค์ประกอบย่อยต่างๆ มาผสมผสาน และสื่อออกมาในองค์ประกอบของอาคาร ทั้งภายใน และภายนอก สะท้อนให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมของ จ.กระบี่ และจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามปัจจุบันการเปิดใช้งานอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ยังไม่พบปัญหาใด
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะทำให้อาคารผู้โดยสารทั้ง 3 หลังเชื่อมต่อกัน มีพื้นที่รวม 6.8 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 1,500 คนต่อชั่วโมง (ชม.) หรือ 4.32 ล้านคนต่อปี เป็น 3,000 คนต่อชม. หรือ 8 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็น อาคารที่พักผู้โดยสารภายในประเทศ 1,500 คนต่อชม. และระหว่างประเทศ 1,500 คนต่อชม. และสามารถจอดรถยนต์ได้ 2,664 คัน เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้โดยสาร ส่วนงานก่อสร้างทางขับขนาน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน วงเงินประมาณ 941 ล้านบาท มีความคืบหน้าประมาณ 65.30% คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.ย. 67 ซึ่งจะทำให้ทางขับขนานท่าอากาศยานกระบี่ สามารถรองรับการขึ้น-ลงของเครื่องบินได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 8 ลำต่อชั่วโมง (ชม.) เป็น 24 ลำต่อชม.
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ท่าอากาศยานกระบี่ เป็น 1 ใน 29 ท่าอากาศยานภายใต้การดูแลของ ทย. ที่มีผู้โดยสารมาใช้บริการมากที่สุด โดยในปีงบประมาณ 67 (1 ต.ค.66-20 ก.พ.67) มีเที่ยวบินมาใช้บริการแล้ว 36,927 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสาร 5,331,164 คน ขณะนี้เส้นทางภายในประเทศ มีให้บริการ 5 สายการบิน ทั้งบินตรงจากกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ/ดอนเมือง) และบินข้ามภาค (เชียงใหม่/สมุย) ประกอบด้วย สายการบินไทย, สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, สายการบินไทยแอร์เอเชีย, สายการบินไทยเวียตเจ็ท และสายการบินไทย ไลอ้อน แอร์
ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศ มี 5 สายการบินให้บริการ ประกอบด้วย สายการบินฟลายดูไบ เส้นทางดูไบ-กระบี่, สายการบินสกู๊ต เส้นทาง สิงคโปร์-กระบี่, สายการบินแอร์เอเชีย เส้นทาง มาเลเซีย-กระบี่, สายการบินทุลย์ ฟรายส์ เส้นทาง สตอกโฮล์ม (สวีเดน)-กระบี่ และสายการบินลอตโปลิชแอร์ไลน์ เส้นทาง วอร์ซอ (โปแลนด์)-กระบี่ และปราก (เช็ก)-กระบี่.