ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมบ้านเคียงดอย รีสอร์ท ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 4 เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกอบด้วย เครืองข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอน, สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน, เครือข่ายเสริมสร้างรวามเข้มแข็งชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน และสภาพลเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน นำโดย นายประเสริฐ ประดิษฐ์, นายสุเทพ นุชทรวง พร้อมด้วยสมาชิก ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ คัดค้านโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล

นายประเสริฐ แถลงว่า ตามที่กรมชลประทานได้เร่งผลักดันโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่เขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นโครงการชุดที่ประกอบด้วยเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม อาคารสูบน้ำอุโมงค์ผันน้ำ และสายส่งไฟฟ้า มีมูลค่ารวมกันทั้งหมด 71,000 ล้านบาท โดยมีการโฆษณาชวนเชื่อให้กับชาวนาภาคกลางว่า จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาน้ำแล้งของชาวนาภาคกลาง กว่า 1.6 ล้านไร่นั้น เมื่อต้นเดือน ก.ย.46 รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และเตรียมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีนั้น เครือข่ายภาคประชาชนจ.แม่ฮ่องสอน เห็นว่าการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยมาให้ข้อมูลแก่ประชาชนในพื้นที่ แม้จะเคยมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่จำกัดเฉพาะบางกลุ่ม ทำให้ชาวบ้านไม่มีโอกาสเข้าร่วม ซึ่งโครงการน้ำจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ธรรมชาติและการดำรงชีวิตปกติของประชาชน นอกจากนี้พื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่มีปัญหาการบริหารจัดการน้ำ และโครงการดังกล่าว อาจจะนำไปส่งการแย่งชิงน้ำจากคนชายขอบไปให้แก่นายทุน ทำให้คนต้นน้ำถูกกำจัดสิทธิในการใช้น้ำ

นายประเสริฐ กล่าวว่า 4 เครือข่ายภาคประชาชนจ.แม่ฮ่องสอน จึงขอเรียกร้อง ให้เพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และยุติการผลักดันโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่เขื่อนภูมิพล และให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ โดยต้องเริ่มต้นจากการมีความรู้ความเข้าใจต่อระบบนิเวศ และจะต้องมองให้เห็นความเชื่อมโยงของปัญหาแต่ละอย่าง วางแผนจัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำปริมาณมหาศาลที่มีอยู่ในพื้นที่ก่อน เพื่อจัดเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยให้ความรู้ทางเทคโนโลยีและวิศวกรรมลงทุนสร้างระบบจัดเก็บและควบคุมน้ำที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และไม่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ