นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟท. ยังอยู่ระหว่างเจรจาเรื่องการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (กลุ่ม ซี.พี.) ในฐานะเอกชนคู่สัญญา ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าจะเจรจาให้ได้ข้อสรุปภายในกลางเดือน มี.ค. 67 โดยประเด็นในการเจรจายังเป็นเรื่องของการก่อสร้างช่วงโครงสร้างทับซ้อนของสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา กับโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน วงเงินประมาณ 9 พันล้านบาท
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า รฟท. ต้องการให้เอกชนเป็นผู้ก่อสร้างให้ เพราะหาก รฟท. ก่อสร้างเอง ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการดำเนินการเปิดประกวดราคาหาผู้รับจ้างก่อสร้าง ซึ่งจะเสียเวลามาก โดยเวลานี้เอกชนก็เสนอมาแล้วว่าพร้อมที่จะก่อสร้าง และออกค่าก่อสร้างประมาณ 9 พันล้านบาทให้ รฟท. พร้อมกับยื่นข้อเสนอ 3-4 ประเด็น เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างทางการเงิน และรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL) มาให้พิจารณาด้วย ซึ่ง รฟท. ต้องพิจารณาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และยึดหลักที่ว่าในการแก้ไขสัญญาภาครัฐต้องไม่เสียเปรียบใดๆ
นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณอะไร ที่จะทำให้การก่อสร้างรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินจะไม่เกิดขึ้น รฟท. จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะหากโครงการนี้ไม่เกิดขึ้น ความมั่นใจของเอกชนในการลงทุนโครงการต่างๆ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะไม่เกิดขึ้นเลย ซึ่งเวลานี้ รฟท. ส่งมอบพื้นที่การก่อสร้างให้เกือบทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงเคลียร์งานสาธารณูปโภคอีกเล็กน้อย ไม่น่าจะมีปัญหาใด โดยหากเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งทาง BOI ขยายระยะเวลาการออกบัตรส่งเสริมให้จนถึงวันที่ 22 พ.ค. 67 ทาง รฟท. ก็พร้อมออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานก่อสร้าง (NTP) ได้ตามสัญญา และเชื่อว่าเมื่อออก NTP ความมั่นใจของนักลงทุนในพื้นที่อีอีซีจะเกิดขึ้นทันที
นายนิรุฒ กล่าวด้วยว่า ส่วนประเด็นการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี (TOD) บนพื้นที่มักกะสันขนาด150 ไร่ ซึ่งเอกชนยังไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากยังมีประเด็นเรื่องการเพิกถอนลำรางสาธารณะ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรุงเทพมหานคร (กทม.) นั้น ประเด็นนี้ไม่น่าจะมีปัญหาใด สามารถเจรจากับเอกชน เพื่อลดพื้นที่ลงได้ แต่ถ้าสุดท้ายแล้วหากไม่สามารถขอถอนสภาพลำรางสาธารณะ ซึ่งมีขนาดพื้นที่ไม่กี่ไร่ได้ ทาง รฟท. จะเจรจาเอกชน เพื่อขอลดพื้นที่ลง หรืออาจนำพื้นที่ส่วนอื่นๆ มาเพิ่มทดแทนให้เอกชนก็ได้ เรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณา
รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มีระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 224,544 ล้านบาท รฟท. เริ่มขั้นตอนการประกวดราคาตั้งแต่ปี 61 จากนั้นเมื่อเดือน ต.ค. 62 รฟท. และ สกพอ. ได้ลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลคือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (กลุ่ม ซี.พี.) สัมปทาน 50 ปี อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างโครงการฯ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ปี หากเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 67 คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ประมาณปี 71 ซึ่งรถไฟไฮสปีดสายนี้ จะใช้เวลาเดินทางจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภา ประมาณ 1 ชั่วโมง 50 นาที.