นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้รายงานผลการประชุมร่วมกับสายการบินที่ให้บริการเส้นทางภายในประเทศ 6 ราย ประกอบด้วย สายการบินไทย, บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยไลอ้อนแอร์, นกแอร์ และไทยเวียตเจ็ท เกี่ยวกับกรณีค่าโดยสารทางอากาศมีราคาสูง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลท่องเที่ยว พร้อมทั้งหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยได้ข้อสรุปว่า กพท. จะจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1.มาตรการระยะสั้น ซึ่งสายการบินเสนอขอเพิ่มจำนวนเที่ยวบินในช่วงเทศกาล ในห้วงเวลาช่วงเช้า หรือช่วงเย็นตามที่จะดำเนินการได้ เพื่อให้ระบบการจำหน่ายตั๋วมีราคาต่ำลง และเพิ่มทางเลือกแก่ผู้โดยสาร

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ซึ่งมาตรการระยะสั้นนี้ ต้องประสานงานกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท., กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ก่อนที่จะเริ่มมาตรการต่อไป อย่างไรก็ตาม ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 67 ที่จะถึงในเดือน เม.ย. นี้ คาดการณ์ว่าจะเป็นห้วงเวลาที่มีการเดินทางเป็นจำนวนมาก ดังนั้น สายการบินจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางด้านราคา เพื่อช่วยเหลือผู้โดยสาร ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะไปพิจารณาในรายละเอียด ก่อนที่จะกลับมาประชุมกับ กพท. อีกครั้ง ในวันที่ 28 ก.พ. 67 ซึ่งการพิจารณาในครั้งนี้ ต้องประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย เช่น ทอท., ทย., บวท. และหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว เพื่อบูรณาการ และสนับสนุนให้การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ส่วน 2.มาตรการระยะยาว กพท. จะปรับปรุงเพดานอัตราค่าโดยสารใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากศึกษาข้อมูลแล้วพบว่า การเดินทางของผู้โดยสารในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเดิมผู้โดยสารมักจะซื้อตั๋วล่วงหน้าเป็นปี หรือหลายเดือนก่อนเดินทาง แต่ขณะนี้มักจะซื้อตั๋วล่วงหน้าก่อนเดินทางไม่กี่เดือน หรือไม่กี่วัน อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงเพดานอัตราค่าโดยสารดังกล่าว ต้องประสานกับสายการบิน เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน พร้อมทั้งประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสายการบิน รวมถึงแนวทางการดำเนินการให้ครอบคลุมในทุกมิติ เนื่องจากสายการบินได้มีการจำหน่ายตั๋วโดยสารล่วงหน้าไปแล้วประมาณ 1 ปี

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ได้เร่งรัดให้การพิจารณาเรื่องการปรับปรุงเพดานอัตราค่าโดยสารใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนเสนอต่อคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ และมีผลบังคับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้โดยสาร และผู้ประกอบการสายการบิน.