รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า ขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างจัดทำหนังสือตอบกลับไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อส่งต่อไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) หลังจาก สลค. ได้ส่งความคิดเห็นของกระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เกี่ยวกับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6,468 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,670 ล้านบาท กลับมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของทั้ง 2 หน่วยงาน
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า เบื้องต้น รฟท. จะแจ้งกลับว่า ยังคงยืนยันกรอบวงเงินการลงทุนทั้ง 2 โครงการในราคาเดิม ซึ่งการที่กระทรวงการคลัง ได้ให้ปรับกรอบวงเงินลงทุน ตามเกณฑ์การจัดทำราคาใหม่ของกรมบัญชีกลางนั้น เมื่อปรับแล้ววงเงินเพิ่มขึ้นแบบไม่ได้มีนัยสำคัญแต่อย่างใด และสามารถที่จะเกลี่ย เพื่อใช้กรอบวงเงินเดิม โดยอาจจะปรับรายละเอียดแต่ละโครงการเล็กน้อย อาทิ เดิมต้องซื้อขบวนรถไฟ 15 ขบวน ก็อาจปรับลดจำนวนขบวนลดลง เพื่อนำเงินในส่วนที่ปรับลดลงไปเพิ่มในงานโยธาแทน ทั้งนี้ สาเหตุที่ รฟท. ไม่ได้ปรับตามเกณฑ์ใหม่ตั้งแต่แรกนั้น เนื่องจากเรื่องได้เสนอมายัง สลค. แล้ว ในขณะที่เกณฑ์การจัดทำราคาใหม่ เพิ่งจะมีผลบังคับใช้
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ส่วนความคิดเห็นของ สศช. ที่ให้ รฟท. พิจารณาความเหมาะสมเรื่องความยาวชานชาลาสถานีให้มีขนาดเดียวกับความยาวของชานชาลาในสายสีแดง (เหนือ) ช่วงบางซื่อ-รังสิต มีความยาว 210 เมตร และชานชาลาสายสีแดงตะวันตก ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีความยาว 230 เมตรนั้น ในประเด็นนี้ รฟท. มองว่าความยาวชานชาลาที่ 130 เมตร ตามผลการศึกษามีความเหมาะสมแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องสร้างชานชาลาที่มีความยาวเท่ากับช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่มีการศึกษาไว้ก่อนนานแล้ว เพราะปริมาณผู้โดยสารไม่ได้มาก และชานชาลาความยาว 130 เมตร ก็เพียงพอสำหรับขบวนรถไฟที่ให้บริการ ซึ่งมีจำนวน 6 ตู้ โดยแต่ละตู้มีความยาวประมาณ 20 เมตร
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า คาดว่า รฟท. จะส่งหนังสือตอบกลับดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในเดือน ก.พ. 67 ก่อนจะเสนอไปยัง สลค. และเข้าบรรจุวาระของการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับกรอบเวลาการทำงานในส่วนของรถไฟสายสีแดง ส่วนต่อขยายทั้ง 2 เส้นทางนั้น หากสามารถเสนอ ครม. และพิจารณาอนุมัติได้ภายในเดือน มี.ค. 67 อย่างเร็วที่สุดภายใน 7 เดือนหลังจากนั้น คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูล และสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปลายปี 67 โดยใช้เวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี แล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ทั้ง 2 เส้นทางได้ประมาณปลายปี 70
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ส่วนนโยบายของนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ที่ให้ปรับเพิ่มเส้นทางให้มีระยะทางยาวขึ้นกว่าเดิม โดยช่วงรังสิต-มธ. ศูนย์รังสิต ให้ขยายไปถึง จ.พระนครศรีอยุธยา และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ให้ขยายไปยัง จ.นครปฐม นั้น รฟท. ยังคงดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยในการเสนอเข้า ครม. ช่วงแรกนี้ จะเป็นเส้นทางช่วงเดิมก่อน แต่จะแจ้งต่อที่ประชุม ครม. ว่ากระทรวงคมนาคม มีแผนจะปรับขยายเส้นทางให้ยาวขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการศึกษายาวไปถึง จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.นครปฐม แล้ว แต่ช่วงดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จึงต้องทำให้เรียบร้อยก่อน.