“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ว่า ตั้งแต่เดือน ก.ค. 67 สายการบิน Ezy Airlines (อีซี่แอร์ไลน์) สายการบินน้องใหม่จากบริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด มีแผนจะเปิดทำการบินเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ แบบประจำ ที่ท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ในเส้นทาง หาดใหญ่ (สงขลา)-เบตง (ยะลา) วันละ 6 เที่ยวบิน (ไป-กลับ) ให้บริการด้วยเครื่องบินใบพัดแบบ Cessna 208B Grand Caravan Ex รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 12 ที่นั่ง ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการขอรับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ โดยเบื้องต้นค่าโดยสารอยู่ที่ประมาณ 2-3 พันบาทต่อเที่ยว
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ในส่วนของท่าอากาศยานเบตง ซึ่งเป็นท่าอากาศยานลำดับที่ 29 ใหม่ล่าสุดของ ทย. ก็มีความพร้อมทั้งอุปกรณ์ และบุคลากรที่จะรองรับการมาเปิดเที่ยวบินดังกล่าวของสายการบิน Ezy Airlines แล้ว โดยก่อนหน้านี้ แม้จะไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์มาให้บริการที่ท่าอากาศยานเบตงเลย นับตั้งแต่สายการบินนกแอร์หยุดทำการบินในเส้นทาง กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เบตง ตั้งแต่เมื่อเดือน ต.ค. 65 แต่ที่ผ่านมาท่าอากาศยานเบตง ได้เปิดให้บริการเที่ยวบินของส่วนราชการ และเที่ยวบินส่วนบุคคล อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ มีการใช้งานสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็ดูแลบำรุงรักษาอยู่เสมอเช่นเดียวกัน มั่นใจได้ในมาตรฐานความปลอดภัยของสนามบิน
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ในปีงบประมาณ 66 (ต.ค. 65-ก.ย. 66) ที่ท่าอากาศยานเบตง มีเที่ยวบินมาใช้บริการรวม 66 เที่ยวบิน ผู้โดยสารรวม 1,872 คน แบ่งเป็น เที่ยวบินทหาร และเที่ยวบินฝึกบิน 20 เที่ยวบิน, เที่ยวบินพาณิชย์ภายในประเทศ 26 เที่ยวบิน และเที่ยวบินส่วนบุคคล 20 เที่ยวบิน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ท่าอากาศยานเบตง อยู่ระหว่างออกแบบงานก่อสร้าง พร้อมศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อขยายทางวิ่ง (รันเวย์) เพิ่มอีก 700 เมตร จากปัจจุบัน 1,800 เมตร เป็น 2,500 เมตร โดยจะขยายไปทางทิศตะวันตก 375 เมตร และทางทิศตะวันออก 325 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ 180 ที่นั่งได้ อาทิ แอร์บัส A320 และโบอิ้ง B-737
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายงานอีไอเอของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) หากรายงานอีไอเอผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) คาดว่าจะใช้เวลาหลังจากนั้นประมาณ 1 ปี ในการจัดซื้อที่ดิน และใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี จึงจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการรันเวย์ที่มีขนาด 2,500 เมตรได้ ทั้งนี้ การขยายรันเวย์ดังกล่าว เมื่อเปิดใช้งานแล้ว เครื่องบินขนาดใหญ่อาจต้องบินเข้าไปยังน่านฟ้าของประเทศมาเลเซียด้วย ซึ่งต้องหารือกับทางประเทศมาเลเซียด้วย โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อทำความตกลงกับประเทศมาเลเซียต่อไป
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ท่าอากาศยานเบตง มีพื้นที่ 920 ไร่ เป็นท่าอากาศยานลำดับที่ 29 ของ ทย. เริ่มก่อสร้างปี 59 วงเงินกว่า 1,900 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 62 รันเวย์ กว้าง 30 เมตร ยาว 1,800 เมตร อาคารที่พักผู้โดยสาร และอาคารประกอบ มีพื้นที่รวม 7,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 300 คนต่อชั่วโมง ปัจจุบันรองรับได้เพียงอากาศยานขนาด 80 ที่นั่ง อาทิ Q400 และ ATR 72 ทั้งนี้ท่าอากาศยานเบตง เปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์แบบประจำครั้งแรก โดยสายการบินนกแอร์ เส้นทาง กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เบตง ในเดือน เม.ย.-ต.ค. 65 มีเที่ยวบินรวม 162 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 12,518 คน ซึ่งการมาเปิดทำการบินของสายการบิน Ezy Airlines จะทำให้ท่าอากาศยานเบตงกลับมาคึกคักอีกครั้ง.