บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท การบินไทยฯ ได้ลงนามในสัญญาจัดหาเครื่องบิน และเครื่องยนต์ ร่วมกับบริษัท โบอิ้ง และ บริษัท จีอี แอโรสเปซ เพื่อจัดหาเครื่องบินแบบลำตัวกว้างพิสัยกลาง และไกล พร้อมเครื่องยนต์จำนวน 45 ลำ พร้อมสิทธิในการจัดหาเพิ่มเติม (Option Order) อีกจำนวนหนึ่ง เพื่อนำเข้าประจำการในฝูงบินของบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 2570–2576 ตามแผนเครือข่ายเส้นทางบินที่จัดทำขึ้น

โดยในปี 66 บริษัทฯ ได้ออกเอกสารเชิญยื่นข้อเสนอราคา (RFP) ไปยังบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน และเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนบริหารเครือข่ายเส้นทางบิน และฝูงบินระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นใจว่าบริษัทฯ จะสามารถรักษาระดับความสามารถในการหารายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย และประมาณการทางการเงินที่จัดทำขึ้น โดยการจัดหาเครื่องบินครั้งนี้ เพื่อทดแทนเครื่องบินที่มีกำหนดจะปลดระวาง และทยอยหมดสัญญาเช่าลงในกรอบระยะเวลาข้างต้น เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทฯ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทฯ เฉพาะ ณ สนามบินสุวรรณภูมิมีสัดส่วนลดลงจาก 51.3% ในปี 56 เหลือเพียง 27% ในปี 66 ส่วนหนึ่งด้วยข้อจำกัดด้านฝูงบินของบริษัทฯ ทั้งในเชิงปริมาณ และประสิทธิภาพของเครื่องบินในฝูงบิน

ในปี 56 บริษัทฯ มีเครื่องบินรวม 100 ลำ ต่อมาเมื่ออุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบกับการที่บริษัทฯ เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ ได้ปลดระวางเครื่องบินจำนวนหนึ่งที่มีอายุการใช้งานยาวนาน มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงสูง อุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในห้องโดยสารเสื่อมสภาพ มีค่าซ่อมบำรุงที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี มีมูลค่าการลงทุนสูง และไม่คุ้มค่าที่จะปรับปรุง เพื่อคืนสภาพให้สามารถกลับมาปฏิบัติการบิน ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 65 บริษัทฯ มีเครื่องบินที่ใช้ในการปฏิบัติการบินเหลือเพียง 64 ลำ หรือมีขนาดฝูงบินรวมลดลง 36% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 56

โดยระหว่างปี 65–66 บริษัทฯ ได้แก้ไขข้อจำกัดด้านฝูงบินโดยการจัดหาเครื่องบินด้วยวิธีเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) เพื่อนำมาใช้ในการปฏิบัติการบินรองรับปริมาณความต้องการเดินทางที่ฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว โดยเป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง 21 ลำ ซึ่งทยอยรับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 66 (เม.ย.-มิ.ย.66) ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินแบบ Airbus 350 ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ Rolls-Royce แบบ Trent XWB และจะเริ่มทยอยรับเครื่องบินลำตัวแคบแบบแอร์บัส 321neo ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 68 หรือ (ต.ค.-ธ.ค.68) จึงทำให้จำนวนเครื่องบินในฝูงบินของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นเป็น 70 ลำในปี 66 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 79 ลำในปี 67 และ 90 ลำในปี 68 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเรื่องจำนวนเครื่องบินที่อยู่ในแผนปลดระวาง และสัญญาเช่าจะทยอยหมดอายุลง ระยะเวลาการผลิตของผู้ผลิต และปริมาณความต้องการเครื่องบินในอุตสาหกรรมที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากบริษัทฯ ไม่ดำเนินการจัดหาฝูงบินระยะยาวในครั้งนี้ จะส่งผลให้ในปี 76 ฝูงบินของบริษัทฯ จะมีจำนวนเครื่องบินเหลือเพียง 51 ลำ หรือน้อยกว่าปี 56 คิดเป็นสัดส่วน 49% ซึ่งไม่เพียงพอต่อการสร้างรายได้ การรักษาส่วนแบ่งทางตลาด ขีดความสามารถในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ และเมื่อพิจารณาจำนวนเครื่องบินที่จัดหาเพิ่มเติมในคราวนี้จำนวน 45 ลำ ในปี 76 บริษัทฯ จะมีจำนวนเครื่องบินรวมทั้งสิ้น 96 ลำ ซึ่งยังคงน้อยกว่าจำนวนเครื่องบินในฝูงบินของบริษัทฯ เมื่อปี 56

ในส่วนของแผนการเงินที่จะนำมาชำระค่าเครื่องบิน และเครื่องยนต์ดังกล่าว ขณะนี้บริษัทฯ เตรียมความพร้อมทางการเงินและคาดการณ์สภาพคล่องในอนาคตว่ามีจำนวนเพียงพอต่อการชำระค่าเครื่องบิน และเครื่องยนต์ตามกรอบเวลาการจัดหา โดยบริษัทฯ จะพิจารณาแหล่งเงินทุน และเลือกวิธีการจัดหาเงินทุนที่เหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสถานะการเงิน สภาพคล่องของบริษัทฯ และความคุ้มค่าทางการเงิน โดยจะเปิดกว้างพิจารณารูปแบบการเช่าดำเนินการ และเช่าซื้อเครื่องบินในสัดส่วนที่เหมาะสม และการจัดหาเครื่องบินในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทฯ ตามแผนฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด

ในการจัดหาเครื่องบินครั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ และให้ความสำคัญกับความโปร่งใสในกระบวนการ ดำเนินการตรงกับบริษัทผู้ผลิตทุกรายโดยไม่ผ่านตัวแทน อ้างอิงรูปแบบการดำเนินการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการบิน เทียบเคียงสายการบินชั้นนำอื่นๆ ในระดับนานาชาติ มีที่ปรึกษาชั้นนำที่ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศร่วมพัฒนาแบบจำลองเครือข่ายเส้นทางบิน แบบจำลอง และประมาณการทางการเงิน กำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์การคัดเลือกประเมินผลและการเจรจาต่อรองกับผู้ผลิต

โดยมุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ เป็นสำคัญ ทั้งด้านต้นทุนดำเนินการในทุกมิติ อาทิ ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านประสบการณ์ และความพึงพอใจของผู้โดยสาร ได้แก่ ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารในมิติต่างๆ ได้แก่ ความสะดวกสบาย ที่นั่ง อุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในห้องโดยสาร ฯลฯ ต้นทุนความเป็นเจ้าของหรือค่าเช่า ต้นทุนการซ่อมบำรุง ความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง ประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือ (Reliability) ในการปฏิบัติการบิน ความสามารถในการสร้างรายได้ให้เป็นไปตามประมาณการทางการเงินภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ ปริมาณการผลิต ประสิทธิภาพการจัดการฝูงบินตามแผนเครือข่ายเส้นทางบิน ความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ฯลฯ

บริษัทฯ จะเปิดเผยข้อเท็จจริงในรายละเอียดเกี่ยวกับแบบเครื่องบิน และเครื่องยนต์ในการจัดหาครั้งนี้ร่วมกับผู้ผลิตในงาน Singapore Airshow ที่จะจัดขึ้น ณ ประเทศสิงคโปร์ระหว่างวันที่ 20-25 ก.พ.นี้ ทั้งนี้บริษัทฯ จะยังคงร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องบินและเครื่องยนต์ชั้นนำของโลกในการพัฒนาฝูงบินของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้โดยสารทั้งในด้านความปลอดภัยในการเดินทาง คุณภาพผลิตภัณฑ์ และบริการในเที่ยวบิน และขอให้ความมั่นใจว่าการดำเนินการจัดหาด้านการจัดการฝูงบินระยะยาวครั้งนี้ ดำเนินการด้วยความรอบคอบบนพื้นฐานแห่งความจำเป็น เพื่อดำเนินธุรกิจให้บรรลุเป้าหมาย และความสำเร็จด้วยกระบวนการและหลักเกณฑ์ที่มีความโปร่งใส ยึดถือเอาประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ เป็นสำคัญ มิเพียงแต่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการฟื้นฟูกิจการ แต่ยังเพื่อสร้างการเติบโต และผลกำไรทางธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต และก้าวไปสู่ความเป็นสายการบินชั้นนำของโลกที่คนไทยทุกคนภาคภูมิใจ.