นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 67 ครั้งที่ 1 โดยมีแผนการปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่มจากเดิม 194,434 ล้านบาท เป็น 754,710 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอีก 560,276 ล้านบาท แยกเป็น แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล เพิ่มจากเดิม 17,435 ล้านบาท เป็น 603,211 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 505,776 ล้านบาท อาทิ เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 67

เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 66 ไปพลางก่อน ปรับเพิ่มเพื่อให้รัฐบาลสามารถรองรับการใช้จ่ายของภาครัฐได้ตามปกติก่อนที่ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 67 จะมีผลบังคับใช้ และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 66 ไปพลางก่อน โดยมีวงเงินไม่เกินสองในสามของวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปีงบประมาณ 66

ส่วนแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ (หนี้ในประเทศ) เพิ่มจากเดิม 96,999 ล้านบาท เป็น 128,499 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 31,500 ล้านบาท ส่วนแผนบริหารหนี้เดิม ปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.621 ล้านล้านบาท เป็น 2.008 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 387,758 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้ ปรับเพิ่มจากเดิม 390,538 ล้านบาท เป็น 399,613 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9,075 ล้านบาท

ทั้งนี้การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 67 ครั้งที่ 1 รอบนี้ เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดกรอบหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 70% ซึ่งการปรับวงเงินเพิ่มครั้งนี้ จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ที่ 61.29%

ขณะที่สัดส่วนหนี้รัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 35% ซึ่งการปรับวงเงินเพิ่มครั้งนี้สัดส่วนหนี้รัฐบาลต่อประมาณการรายได้ อยู่ที่ 33.06% ด้านสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด กำหนดไว้ไม่เกิน 10% ล่าสุดอยู่ที่ 1.5% ส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้ของการส่งออกสินค้าและบริการ กำหนดไว้ไม่เกิน 5% ล่าสุดอยู่ที่ 0.4%

นายชัย กล่าวว่า การอนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งนี้ ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังทุกอย่าง และนอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติเพิ่มเติมให้บรรจุโครงการพัฒนา และโครงการหรือรายการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้นอีก 56 โครงการ รวมทั้งอนุมัติให้การเคหะแห่งชาติ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้ต่อภาระหนี้ของกิจการไม่เกิน 1% สามารถกู้เงินเพื่อมาใช้ในการบริหารกิจการได้ แต่ต้องเป็นไปตามแผนหรือคำแนะนำของคณะกรรมการด้วย