นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) ครั้งที่ 2/64 เมื่อวันที่ 7 ก.ค.64 ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วม โดยใช้เทคโนโลยีการใช้บัญชีระบุตัวตนผู้โดยสาร (Account Based Ticketing: ABT) ปัจจุบันการออกแบบระบบแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างพัฒนาซอฟต์แวร์และติดตั้งระบบ โดยได้ทดสอบระบบครั้งแรกที่สถานีหัวลำโพง และสถานีสนามไชย เมื่อต้น ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าระบบใช้งานได้ถูกต้อง ตามแผนงานจะดำเนินการทุกอย่างแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 64 และสามารถเปิดให้ประชาชนใช้งานระบบได้ในต้นปี 65 

ขณะที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เริ่มใช้บัตรจ่ายเงินที่ใช้เทคโนโลยี ABT คล้ายกับที่ รฟม. กำลังพัฒนา โดยเริ่มใช้กับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพ ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษเฉลิมมหานครไปแล้ว

นอกจากนี้ระบบตั๋วร่วมแบบ ABT ดังกล่าวกำลังติดตั้ง เพื่อใช้งานกับรถไฟฟ้าสายสีแดง และทางพิเศษดอนเมืองโทลล์เวย์ คาดว่าจะใช้งานได้ภายในสิ้นปี 64 ทั้งนี้ได้รับทราบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คนต. จำนวน 2 คณะ ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมองค์กร และ 2.คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและการจัดสรรรายได้ 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า สำหรับคณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมองค์กร เนื่องจากผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะมีความพร้อม คณะอนุกรรมการฯ จึงวางแนวการออกแบบมาตรฐานทางเทคโนโลยีระบบตั๋วร่วมให้เป็นแบบ ABT และบัตรที่ใช้เป็นแบบระบบเปิด (Open Loop) กรอบแนวนโยบายการบริหารจัดการตั๋วร่วม แบ่งเป็นส่วนผู้ใช้บริการ ส่วนผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ศูนย์กลางจัดการค่าโดยสาร (Central Clearing House) และส่วนผู้ให้บริการชำระเงิน 

และ กำหนดแผนดำเนินการเป็นระยะสั้น กลาง และยาว ซึ่งระยะสั้น (ปี 64) นำระบบตั๋วร่วมแบบ ABT มาใช้ได้ ส่วนระยะกลาง (ปี 65) จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) รองรับการใช้อัตราค่าโดยสารร่วม และ ระยะยาว (ปี 66) จัดตั้งสำนักงานกลางทำหน้าที่บริหารจัดการเรื่องตั๋วร่วม พร้อมประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมฯ บังคับใช้ระบบตั๋วร่วมกับผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะของรัฐและเอกชน 

ส่วนคณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและการจัดสรรรายได้ สรุปปัญหาเรื่องมาตรฐานอัตราค่าโดยสารในปัจจุบัน ได้แก่ การเก็บค่าแรกเข้าในแต่ละสายไม่เท่ากัน ปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารในแต่ละสายไม่เท่ากัน มีการเก็บค่าแรกเข้าทุกครั้ง เมื่อเดินทางข้ามระบบ และโครงสร้างอัตราค่าโดยสารไม่สะท้อนกับระยะทาง รวมทั้งแนวทางแก้ปัญหาสำหรับสายรถไฟฟ้าที่สัญญาสัมปทานได้ลงนามในสัญญาไปแล้ว ตลอดจนศึกษาหาแนวทางแก้ไขสัญญาพร้อมแนวทางการชดเชยกรณีที่มีความจำเป็น แต่สำหรับสายรถไฟฟ้าที่จะลงนามในอนาคตจะศึกษากำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เพื่อกำหนดในสัญญาสัมปทานก่อนทำการลงนาม  

ปัจจุบันคณะอนุกรรมการฯ ได้ศึกษาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารของระบบขนส่งสาธารณะในไทย และในต่างประเทศ วิเคราะห์อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แล้วเสร็จ ขั้นตอนต่อไปต้องสรุปการกำกับดูแล จัดสรรรายได้ เมื่อใช้อัตราค่าโดยสารร่วม โดยจะสรุปผลได้ ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตามมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 2 คณะ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น รฟม., กทพ., การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรมทางหลวง (ทล.) ร่วมพิจารณาด้านสิทธิในทรัพย์สินของ CCH เพื่อรองรับภายหลังจากจัดตั้งสำนักงานกลางตั๋วร่วมในอนาคต

รวมทั้งพิจารณาแนวทางกำหนดมาตรฐานการวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนต่างๆ ทบทวนแนวทางกำหนดอัตราค่าโดยสารคำนึงถึงประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ ตลอดจนร่วมกับธนาคารกรุงไทยหาแนวทางลงทุนในระบบ Europay Mastercard and Visa หรือ EMV ที่ในอนาคตจะเปลี่ยนถ่ายสู่ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-lane Free Flow) หรือ M-Flow ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด