เมื่อวันที่ 9 ก.พ.67 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ “GISTDA” เผยข้อมูลจากภาพดาวเทียม Sentinel-2 ของวันที่ 8 ก.พ.67 เวลา 10.49 น. แสดงภาพพื้นที่เผาไหม้บริเวณพื้นที่บางส่วนของเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ที่มีความเสียหายแล้วกว่า 89,000 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งนี้ ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมยังแสดงให้เห็นจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวของวันที่ 7 ก.พ.67 (จุดสีเหลือง) และวันที่ 8 ก.พ.67 (จุดสีแดง) อีกด้วย

ข้อมูลดังกล่าวจะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าตรวจสอบในพื้นที่จริงร่วมกับจังหวัด เพื่อนำไปสู่การวางแผนฟื้นฟู ป้องกัน และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน อันจะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม : ติดตามข้อมูลไฟป่าได้ที่ http://fire.gistda.or.th/

ขณะที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 08.00 น. ของวันที่ 9 ก.พ.67 พบ 7 จังหวัด ของประเทศไทยมีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดงมีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ ???? คือ #หนองบัวลำภู 100.5 ไมโครกรัม #สุโขทัย 87.7 ไมโครกรัม #ชัยภูมิ 87.4 ไมโครกรัม #เลย 85.7 ไมโครกรัม #ลำพูน 81.4 ไมโครกรัม #เพชรบูรณ์ 80.2 ไมโครกรัม #พิษณุโลก 77.6 ไมโครกรัม สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร วันนี้ยังคงอากาศดี พบค่าฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ระดับปานกลางไปจนถึงคุณภาพอากาศดี

ทั้งนี้ จากข้อมูลจุดความร้อนที่รายงานโดย GISTDA เมื่อวันที่ 8 ก.พ.67 ไทยพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 1,151 จุด ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 372 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 308 จุด พื้นที่เกษตร 190 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก. 157 จุด ชุมชนและอื่นๆ 114 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 10 จุด โดยจังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด 3 อันดับแรก #กาญจนบุรียังคงนำอยู่ที่ 247 จุด #ชัยภูมิ 169 จุด และ #นครราชสีมา 76 จุด ในส่วนของประเทศเพื่อนบ้านวานนี้ พบจุดความร้อนมากสุดอยู่ที่ เมียนมา 1,521 จุด กัมพูชา 524 จุด ลาว 388 จุด และเวียดนาม 120 จุด

ประชาชนควรสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจตามมาโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูล PM2.5 แบบรายชั่วโมงเพิ่มเติมผ่านแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” ดาวน์โหลดใช้งานแอปพลิเคชัน เพียงท่านพิมพ์คำว่า เช็คฝุ่น ทั้งในระบบ IOS และ Android ก็สามารถใช้งานได้เลยทันที