นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้บูรณาการร่วมกันในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาและกำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ตาม “นโยบายและมาตรการ เพื่อป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากภาคคมนาคมขนส่ง” ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแผนการดำเนินงานที่กำหนดไว้ ระหว่างวันที่ 28 พ.ย. 66-28 มี.ค. 67 ระยะเวลา 4 เดือน

กระทรวงคมนาคม มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เน้นย้ำให้สถานตรวจสภาพรถดำเนินงานตรวจสภาพรถให้เป็นไปอย่างครบถ้วน ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ทางราชการกำหนด เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกิดจากการปล่อยฝุ่นควันจากท่อไอเสียของรถยนต์ในภาคการขนส่ง ระหว่างวันที่ 28 พ.ย. 66-31 ม.ค. 67 เจ้าหน้าที่ส่วนสถานตรวจสภาพรถ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ ขบ. และ กทม. ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ ณ สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว จำนวน 118 แห่ง ซึ่งพบสถานตรวจสภาพรถไม่บกพร่อง จำนวน 101 แห่ง

และพบสถานตรวจสภาพรถบกพร่อง จำนวน 17 แห่ง ซึ่งข้อบกพร่องที่พบ เช่น ไม่มีกระจกปรับเทียบเครื่องวัดควันดำ เครื่องวิเคราะห์ก๊าซชำรุด ไม่ปรับเทียบเครื่องวัดควันดำให้ถูกต้อง เที่ยงตรงและพร้อมใช้งาน เป็นต้น ทั้งนี้ สถานตรวจสภาพรถเอกชนที่มีข้อบกพร่องทาง ขบ. จะระงับการดำเนินการ 7 วัน และสถานตรวจสภาพรถดังกล่าว ต้องดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อย ถึงจะสามารถเปิดทำการได้ตามปกติ

ทั้งนี้ ขบ. ยังจัดเจ้าหน้าที่กองตรวจการขนส่งทางบกออกตรวจควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารบนถนนสายหลักสายรองทั่วประเทศ ปีงบประมาณ 67 ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 66-31 ม.ค. 67 ระยะเวลา 4 เดือน จำนวน 49,825 คัน ซึ่งมีรถบรรทุกและรถโดยสารที่มีค่าควันดำที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดและถูกสั่งห้ามใช้รถด้วยการพ่นข้อความ “ห้ามใช้” จำนวน 247 คัน โดยเจ้าของรถจะต้องนำรถไปแก้ไขสภาพเครื่องยนต์ไม่ให้มีค่าควันดำเกินกำหนดและนำมาตรวจสภาพอีกครั้งจนผ่านการตรวจวัดจึงจะนำไปใช้งานได้ ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัดพร้อมบูรณาการกับ กทม. ดำเนินงานและติดตามผลตามนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การแก้ปัญหา PM 2.5 มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมต่อไป