เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสตูล นายธนกฤต เลิศวิริยะวรางกูร ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสตูล นายปิยะวัฒน์ คุระพูล ผอ.กลุ่มประสานการป้องกันการทุจริตภาค 9 สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการติดตาม “โครงการโคบาลชายแดนใต้ของจังหวัดสตูล” จาก นายประสงค์ เรืองสวัสดิ์ ปศุสัตว์จังหวัดสตูล

สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาโคไม่ได้มาตรฐาน ตามโครงการโคบาลชายแดนใต้

นายประสงค์ กล่าวว่า จังหวัดสตูลเริ่มดำเนินการโครงการฯดังกล่าวมาตั้งแต่เดือน ก.ค.2566 โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ส่งมอบพันธุ์วัวเอาไว้ 20 กลุ่ม มีเกษตรกรในพื้นที่รับโคไปเลี้ยงเอาไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่เมื่อดูตามหลักเกณฑ์ และคู่มือที่ทาง กรมปศุสัตว์ กำหนดออกมา พบว่า มีกลุ่มที่ผ่านหลักเกณฑ์เพียง 8 กลุ่มเท่านั้น มีการรับ วัวพันธุ์พื้นเมืองลูกผสม ไปเลี้ยงกลุ่มละ 50 ตัว รวม 400 ตัว และได้เซ็นต์สัญญายืมเงินเพื่อนำไปบริหารจัดการภายในกลุ่มๆ ละ 1,550,000 บาท มีสมาชิกกลุ่มมีส่วนร่วมรับผิดชอบหนี้รายละ 155,000 บาท

“โดยทำการเบิกจ่ายเงินกู้ยืมไป 10,832,000 บาท จะต้องชำระหนี้ภายใน 7 ปี ปีที่ 4-7 ปี ละ 25 % ส่วนอีก 12 กลุ่ม ที่เหลือที่รายละ 155,000 บาท โดยทำการเบิกจ่ายเงินกู้ยืมไปแล้ว จำนวน 10,832,000 บาท จะต้องชำระหนี้ภายใน 7 ปี คือ ปีที่ 4-7 ปีละ 25 % ส่วนอีก 12 กลุ่ม ที่เหลือที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ เพราะว่า มีสมาชิกบางรายไม่เข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และมีปัญหาเรื่องที่ดิน และเงื่อนไขการชำระเงิน ทำให้เกษตรกรบางราย ไม่เข้าร่วมโครงการฯ” นายประสงค์ กล่าว

ทั้งนี้ภายหลังการประชุมฯ คณะได้เดินทางไปในพื้นที่กลุ่มเลี้ยงโคที่อำเภอละงู จ.สตูล เพื่อติดตามการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่ทั้งผ่านเกณฑ์เข้าร่วมฯ และ ที่ไม่ผ่านเกณฑ์โครงการฯ ทั้งนี้ตัวแทนเกษตรที่เข้าร่วมโครงการฯ โดย นายนนท์ สาเหล่หา รอง ประธานกลุ่มเลี้ยงโคร่วมใจบ้านทุ่งไหม้ หมู่ 1 ต.น้ำผุด อ.ละงู จ.สตูล ให้ข้อมูลว่า ทางกลุ่มเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนดไว้ในคู่มือ จึงรวมกลุ่มกัน และรับ วัว มาเลี้ยง มีการทำสัญญากู้เงิน เพื่อนำเงินมาบริหารจัดการในกลุ่มเบื้องต้นไม่มีปัญหาแต่ประการใด

ส่วนตัวแทนจากกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ให้ข้อมูลว่า ทางกลุ่มติดขัดในเรื่องเอกสารสิทธิที่ดิน จึงไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯได้ แต่ในส่วนของ วัว ที่ได้รับมาก่อนนั้น ก็ยังคงเลี้ยงตามปกติ ถึงแม้ว่าจะไม่มีผลผลิตจากแม่โคที่ได้รับมาก็ตาม

นายปิยะวัฒน์ กล่าวว่า ภายหลังรับเรื่องร้องเรียนจากจังหวัดปัตตานี เรื่องแม่พันธุ์โคที่ได้รับน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน พบว่า โครงการฯ นี้ มีการดำเนินการในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ในส่วนจังหวัดสตูล นั้น พบปัญหา คือ กลุ่มเป้าหมายเดิมกำหนดเอาไว้ 20 กลุ่ม แต่เมื่อมีคู่มือออกมาผ่านเกณฑ์เพียง 8 กลุ่ม และไม่ผ่าน 12 กลุ่ม อีกประเด็น คือ บริษัทเอกชนฯ นำโคมาให้เกษตรกร เมื่อปี 2565 ก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการโคบาลชายแดนใต้ จากนี้ไปจะได้รวมรวบทุกประเด็นปัญหา เพื่อให้ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสตูลนำเรียนปัญหาต่อ ผวจ.สตูล เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาตามลำดับต่อไป.