เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์หลังแถลงแผนทำงานพรรคก้าวไกล ปี 2567 ถึงกระบวนการตรวจสอบของพรรคก้าวไกล หลายฝ่ายมองว่าอ่อนแอหลังพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ไม่เป็นความจริง เราทำงานตรงไปตรงมา นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้ถามในสภา ตนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของระบบ ไม่ใช่เรื่องบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และไม่ใช่เรื่องความสะใจ แต่ระบบที่ควรมีความเสมอภาคกัน ระหว่างคนที่โดนกลั่นแกล้งทางการเมือง คนที่ลี้ภัยไปต่างประเทศ รวมถึงประชาชนหลายคนที่อยู่ในเรือนจำ ควรได้รับโอกาสกลับเข้าสู่กระบวนการอย่างเท่าเทียมกัน เราจึงพยายามผลักดันเรื่องนิรโทษกรรมให้เกิดความเท่าเทียม ไม่ได้ต้องการเน้นว่าจะสนับสนุนบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือโจมตีใคร แต่ไม่ต้องการให้ไทยเป็นนิติรัฐของอภิสิทธิ์ชน เราพยายามตรงนี้ไปข้างหน้าให้ได้

เมื่อถามย้ำว่า คนยังจำว่าพรรคก้าวไกลไม่กล้าแตะประเด็นนายทักษิณ ขนาด สว.อาจทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านได้มากกว่า นายพิธา กล่าวว่า อายุเวลาไม่เท่ากัน เรายังมีเวลาในการทำงาน การทำงานที่มีประสิทธิภาพไม่ใช่ใครทำก่อนหรือหลัง แต่คือใครทำตรงเป้าหมายมากกว่า ถ้า สว.เห็นว่าถึงแก่เวลาแล้ว เป็นสิทธิของ สว.ที่จะทำตรงนั้น แต่ที่แปลกคือ สว.ประชุมกันมาหลายปี เพิ่งเห็นว่าเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจสอบรัฐบาล ก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามกลับไป แต่ของเราอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกปี และไม่เคยผิดหวังทุกปี ไม่มีการออมมือ

เมื่อถามอีกว่าเรื่องนายทักษิณถูกกระทำ อาจเกิดจากกระบวนการไม่เป็นธรรม แต่ตอนนี้สถานการณ์ของนายทักษิณที่อยู่โรงพยาบาลตำรวจเขามองว่าเกิด 2 มาตรฐาน แต่พรรคก้าวไกลไม่ได้แอ๊คชั่นเรื่องนี้ นายพิธา กล่าวว่า ถ้าให้เป็นรูปธรรม และใช้กลไกสภา ก็อย่างที่ได้เล่าไปว่า นายชัยธวัช ใช้โอกาสในการตั้งกระทู้ถามเรื่องนี้ไปแล้วว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีนักโทษสูงอายุ มีอาการป่วย และไม่มีโอกาสได้รับการเข้าถึงแบบนี้ พยายามยกตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า 2 มาตรฐานจริง ๆ

“ต้องยอมรับว่า นายทักษิณโดนกลั่นแกล้งทางการเมืองแบบ 2 มาตรฐานเช่นกัน ไม่ได้หมายความว่า 2 มาตรฐานที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ จะไปล้มล้าง 2 มาตรฐานในอดีต ไม่ควรเกิดขึ้น ควรเป็นมาตรฐานเดียวทั้งก่อนและหลัง อย่างไรก็ดีติดตามตลอด จะใช้กลไกทั้งในและนอกสภา ติดตามเรื่องนี้” นายพิธา กล่าว

เมื่อถามว่า อะไรเกิดขึ้นก่อนระหว่างอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือเลือก กก.บห.ชุดใหม่ นายพิธา กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ ต้องขอดูก่อน แต่ต้องพูดให้ชัดก่อนว่า เม.ย.จะอภิปรายหรือไม่ แต่ใช้คำพูดว่า เริ่มเข้าโซน ผ่านมา 8-9 เดือน เป็นโซนที่ต้องใช้สิทธิในการใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 151-152 ในการอภิปราย.