สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ว่า งานศึกษาในนิตยสาร Nature ระบุว่า หลุมดำดังกล่าวกลืนกินกาแล็กซีของมันเพียง 430 ล้านปี หลังการกำเนิดของจักรวาลในช่วงเวลาที่เรียกว่า “รุ่งอรุณของจักรวาล”

นายยาน โชลซ์ นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และผู้เขียนร่วมของงานศึกษา กล่าวว่า กรณีข้างต้นทำให้หลุมดำนี้มีอายุมากกว่าหลุมดำขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่เคยพบ ถึง 200 ล้านปี อีกทั้งมันยังมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะจักรวาล 1.6 ล้านเท่าด้วย

“การที่มันมีเวลาในการขยายใหญ่อย่างรวดเร็ว หลังเกิดบิ๊กแบงเมื่อ 13,800 ล้านปีก่อน จะให้ข้อมูลใหม่สำหรับ ‘แบบจำลองทางทฤษฎีรุ่นต่อไป’ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่ออธิบายถึงสิ่งที่สร้างหลุมดำ” โชลซ์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ หลุมดำดังกล่าวไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนกับหลุมดำอื่น ๆ แต่สามารถตรวจพบได้จากการระเบิดขนาดใหญ่ของแสงที่เกิดจากการดูดกลืนสิ่งที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งแสงนี้ทำให้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ “ฮับเบิล” มองเห็นกาแล็กซี “จีเอ็น-แซด11” (GN-z11) เมื่อปี 2559 ในทิศทางของกลุ่มดาวหมีใหญ่

อย่างไรก็ตาม กล้องเจมส์ เวบบ์ ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่เหนือกว่ากล้องฮับเบิล ในปี 2565 เนื่องจากมันมีการค้นพบมากมายที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องตามให้ทัน ซึ่งนอกจากหลุมดำที่ใจกลางกาแล็กซีจีเอ็น-แซด11 กล้องเจมส์ เวบบ์ ยังพบกาแล็กซีจำนวนมาก ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าที่คาดคิดไว้

ด้านนายสเตฟาน ชาร์ลอต นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ จากสถาบันฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งปารีส (ไอเอพี) ของฝรั่งเศส ชี้ว่า หลุมดำในเอกภพยุคแรก ๆ อาจก่อตัวในลักษณะที่แตกต่างจากหลุมดำที่อยู่ใกล้เคียง ขณะที่โชลซ์ ระบุเสริมว่า เขาหวังว่ากล้องเจมส์ เวบบ์ และกล้องโทรทรรศน์อื่น ๆ ในอนาคต เช่น กล้องยูคลิด ขององค์การอวกาศยุโรป (อีเอสเอ) จะค้นพบหลุมดำเหล่านี้มากขึ้น ในช่วงแรกสุดของจักรวาล.

เครดิตภาพ : AFP