เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 บทนิยามคำว่า “การชุมนุมสาธารณะ” มาตรา 10 มาตรา 14 และมาตรา 28 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 34 และมาตรา 44 หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 15/2563 เรื่องพิจารณาที่ 21/2563 เรื่องพิจารณาที่ 26/2563 และเรื่องพิจารณาที่ 7/2564) ซึ่งศาลจังหวัดตะกั่วป่า ศาลจังหวัดนครพนม ศาลแขวงเชียงราย และศาลจังหวัดบุรีรัมย์ส่งคำโต้แย้งของจำเลย รวม 4 คำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 บทนิยามคำว่า “การชุมนุมสาธารณะ” มาตรา 10 มาตรา 14 และมาตรา 28 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 34 และมาตรา 44 หรือไม่
โดยผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 บทนิยามคำว่า “การชุมนุมสาธารณะ” มาตรา 10 มาตรา 14 และมาตรา 28 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 34 และมาตรา 44
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 บทนิยามคำว่า “การชุมนุมสาธารณะ” ระบุว่า การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถ ร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่ ส่วนมาตรา 10 มาตรา 14 และมาตรา 28 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับแจ้งการชุมนุมต่อก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง ซึ่งถูกโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องการจำกัดสิทธิของบุคคล ในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น รวมทั้งเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ