จากกรณีเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา นายหยาง ยา ซุง น.ส.นวพร เชาว์วัย และนายสมเกียรติ กอไพศาล ผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ 127/2566 หรือคดีตีนไก่สวมสิทธิ ความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 ความผิดฐานอั้งยี่ซ่องโจร และข้อหาร่วมกันฟอกเงิน เดินทางเข้ามอบตัวกับคณะพนักงานสอบสวน และให้ปากคำในรายละเอียดพฤติการณ์ทางคดี ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

3ผู้ต้องหาคดีตีนไก่สวมสิทธิปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แย้มยังไม่ถึงขั้นตอนเรียก “เฉลิมชัย”

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน เปิดเผยว่า สำหรับการสอบปากคำสองสามีภรรยา นายหยาง ยา ซุง และ น.ส.นวพร เชาว์วัย พนักงานสอบสวนได้ตั้งประเด็นคำถามสำคัญไว้ 20 คำถาม ซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ในคดีส่งขายตีนไก่สวมสิทธิ ผิดกฎหมายไปจำหน่ายยังต่างประเทศ (สาธารณรัฐประชาชนจีน) อาทิ สั่งซื้อตีนไก่จากประเทศต้นทางใด และนำไปฝากแช่ไว้ห้องเย็นใดบ้าง ปริมาณที่นำเข้า ขั้นตอนการนำเข้าตีนไก่จากประเทศต้นทางมายังราชอาณาจักรไทยเป็นอย่างไร ได้มีการแกะสินค้า ขึ้นบรรจุภัณฑ์ใหม่ ปั๊มตราสินค้าตีนไก่เหล่านี้อย่างไร ก่อนนำออกจำหน่ายไปยังประเทศจีน หรือได้จัดส่งจำหน่ายไปที่อื่นบ้างหรือไม่ เป็นต้น รวมถึงมีความเกี่ยวข้องกันทางการค้ากับนายหลี่ เซิ่งเจียว ด้วยหรือไม่ โดยทั้งคู่ให้ความร่วมมือตอบคำถามเพียงบางข้อเท่านั้น และพนักงานสอบสวนไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากต้องใช้คำให้การของผู้ต้องหาในการขยายผลไปยังบุคคลอื่นเพิ่มเติม ส่วนคำถามที่ไม่ประสงค์ตอบ ก็ให้ดำเนินการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านหนังสือแก้ข้อกล่าวหาแทนอย่างเร็วที่สุด แต่อย่างไรก็ถือว่าค่อนข้างให้ความร่วมมือดี เป็นประโยชน์ต่อสำนวน 

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีของนายสมเกียรติ กอไพศาล หรือเฮียเกียรติ ภายหลังจากที่ได้สอบปากคำ เจ้าตัวไม่ประสงค์ให้การใด ๆ แต่จะขอไปรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องจากคดี และนำส่งพนักงานสอบสวน เพื่อชี้แจงภายหลังอย่างเร็วที่สุด ทั้งนี้ การที่ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย เดินทางขอเข้ามอบตัวตามที่มีหมายจับ ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ทาง พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ รักษาราชการแทนอธิบดีฯ พิจารณาแล้วเห็นควรให้ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน ด้วยการวางหลักทรัพย์ยื่นประกันตัวเป็นเงินสด รายละ 200,000 บาท (ยึดตามข้อบังคับประธานศาลฎีกา) โดยมีเงื่อนไขกำหนด ห้ามผู้ต้องหาเดินทางออกนอกราชอาณาจักร หรือเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน.