สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ว่า ไจแกนโตพิธิคัส แบล็กกี หรือคิงคองยักษ์ ซึ่งมีความสูง 3 เมตร และหนักมากถึง 300 กิโลกรัม อาศัยอยู่ในป่าทางตอนใต้ของทวีปเอเชีย จนถึงเมื่อ 200,000 ปีก่อนเล็กน้อย แต่สาเหตุที่ทำให้วานรตัวใหญ่เหล่านี้ตาย ถือเป็นหนึ่งในความลึกลับทางบรรพชีวินวิทยาที่มีมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันคนหนึ่ง พบฟันของมันเป็นครั้งแรกที่ร้านขายยาในฮ่องกง เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1930

นายเรนัวด์ โยนเนส-โบยัว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นครอส ของออสเตรเลีย และผู้เขียนร่วมของงานศึกษาชิ้นใหม่ในวารสาร Nature กล่าวว่า เขารู้สึกทึ่งกับฟันกรามของคิงคองยักษ์ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าฟันของลิงใหญ่ 3-4 เท่า และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของงานวิจัยทั้งหมดนี้

แม้มีการขุดค้นถ้ำหลายแห่ง ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน มานาน 10 ปี เพื่อค้นหาร่องรอยของคิงคองยักษ์ แต่สาเหตุการสูญพันธุ์ของวานรเหล่านี้ ยังเป็นเรื่องที่ยากจะอธิบาย กระทั่งการใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อระบุอายุของฟอสซิล เผยให้เห็นว่า ฟันที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุมากกว่า 2 ล้านปี ส่วนฟันชุดล่าสุดมาจากเมื่อประมาณ 250,000 ปีก่อน

นายหยิงฉี จาง ผู้เขียนนำร่วมของงานวิจัย จากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและบรรพมานุษยวิทยาของจีน กล่าวว่า ขณะนี้ทีมนักวิจัยสามารถบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับการสูญพันธุ์ของคิงคองยักษ์ ได้เป็นครั้งแรก ซึ่งพวกเขาพบว่า ช่วงเวลาการสูญพันธุ์ของสัตว์ชนิดนี้ อยู่ระหว่าง 215,000-295,000 ปีก่อน ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างมาก

ในช่วงเวลาข้างต้น ฤดูกาลต่างๆ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้สภาพแวดล้อมในพื้นที่เปลี่ยนไป ป่าทึบที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่เริ่มน้อยลง สวนทางกับป่าขนาดเล็กและทุ่งหญ้าที่มีพื้นที่เยอะขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ทำให้คิงคองยักษ์สูญเสียอาหารโปรดของพวกมันอย่าง “ผลไม้” มากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งขนาดตัวก็ทำให้พวกมันไม่สามารถโหนต้นไม้เพื่อหาอาหารบนที่สูงได้

ด้านนางคิรา เวสต์อเวย์ ผู้เขียนนำร่วม และนักธรณีกาลวิทยา จากมหาวิทยาลัยแมคควอรี ของออสเตรเลีย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทำให้คิงคองยักษ์หันมากินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อยกว่า เช่น เปลือกไม้ และกิ่งไม้ ซึ่งจาง ระบุเสริมว่า นั่นคือ “ความผิดพลาดครั้งใหญ่” ที่นำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์ชนิดนี้ในท้ายที่สุด.

เครดิตภาพ : AFP