“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” แจ้งว่า ขณะนี้ กทพ. อยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติจากนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เพื่อพิจารณาประกาศร่างขอบเขตงาน (TOR) ประกวดราคาโครงการทางพิเศษ (ด่วน) ฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสามารถประกาศร่าง TOR ได้ภายในสัปดาห์นี้ โดยจะขึ้นประกาศผ่านเว็บไซต์ของ กทพ. ตามกฎหมาย เพื่อรับฟังคำวิจารณ์จากทุกภาคส่วน หากมีข้อเสนอแนะ หรือความคิดเห็นใดๆ ก็จะนำมาพิจารณาปรับปรุงร่าง TOR ก่อนจะลงเผยแพร่ TOR ผ่านทางเว็บไซต์ กทพ. อีกครั้ง 

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า คาดว่าประมาณเดือน มี.ค. 67 จะสามารถออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการฯ และจำหน่ายเอกสารการประกวดราคาได้ โดยการประมูลแบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่ งานก่อสร้าง (โยธา) 1 สัญญา และงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง และระบบควบคุมจราจร 1 สัญญา จากเดิมจะแบ่งงานโยธาเป็น 4 สัญญา แต่สาเหตุที่ต้องปรับให้เหลือเพียง 1 สัญญา เพราะต้องการให้การทำงานมีคุณภาพ งานสำเร็จพร้อมกันทั้งโครงการ และการทำงานจะมีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา การแบ่งงานหลายสัญญา พบว่า ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้งานภาพรวมทั้งโครงการ ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามเป้าหมาย บางสัญญาแล้วเสร็จ แต่บางสัญญาล่าช้า ทำให้กระทบทั้งโครงการ อีกทั้งเรื่องความปลอดภัยจะทำให้การกำกับดูแลทำได้ง่ายขึ้น 

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า โครงการทางด่วนฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา สัมปทาน 30 ปี วงเงินลงทุนรวม 24,060 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3,726 ล้านบาท ใช้พื้นที่เวนคืน 471 ไร่ 99 ตารางวา มีอาคารและสิ่งปลูกสร้าง 134 หลัง ซึ่ง กทพ. ขอรับการอุดหนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดจากรัฐบาล และค่าก่อสร้าง และควบคุมงาน 20,334 ล้านบาท โดย กทพ. จะใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) 14,374 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 5,960 ล้านบาท คาดว่าจะใช้วิธีการออกพันธบัตร  

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ปัจจุบันภาพรวมของกรอบเวลาการดำเนินงานยังเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ยังไม่ล่าช้า คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณปลายปี 67 ใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน หรือประมาณ 3 ปี แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการประมาณปี 70 โดยทางด่วนสายนี้สามารถรองรับความเร็วได้ 120 กม.ต่อชั่วโมง (ชม.) จะจำกัดความเร็วบริเวณทางร่วม และทางแยกต่างระดับ ใช้ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ อยู่ที่ประมาณ 3.2 หมื่นคันต่อวัน อัตราค่าผ่านทางเริ่มต้นที่ 25 บาท สูงสุด 125 บาท  

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ทางด่วนฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางด่วนฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางด่วนจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) และมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกตัดถนนหทัยราษฎร์ และถนนนิมิตใหม่ แล้วเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันอออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อถนนลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยทางด่วนสายนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบ รวมถึงเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้ประชาชนระหว่าง จ.ปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียงเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน รองรับการขยายตัวของแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัย และสถานศึกษา ทั้งที่เปิดบริการแล้ว และอยู่ระหว่างพัฒนา.