“ศักดิ์สยาม” ตกเก้าอี้…ไม่ได้อยู่จนครบวาระ 4 ปีถึงวันที่ 23 มี.ค. 2566 ของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคม มีผลวันที่ 3 มี.ค. 2566

กรณี สส. ฝ่ายค้าน 54 คน ยื่นคำร้องว่านายศักดิ์สยาม ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น แม้เจ้าตัวยื่นคำอุทธรณ์ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคม แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำสั่งยกคำร้อง…เป็นกรณีศึกษาและบทเรียนให้นักการเมืองต้องเคลียร์ตัวเองให้ชัด

ทางเลื่อนสนามบินดอนเมืองดูดขาขาด…สยองขวัญมากกับอุบัติเหตุในวันที่ 29 มิ.ย. ที่ทางเลื่อนสนามบินดอนเมืองตัดขาผู้โดยสารหญิงอายุ 57 ปี ขณะกำลังจะขึ้นเครื่องบิน DD552 จากท่าอากาศยานดอนเมืองไปนครศรีธรรมราช บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ตั้งโต๊ะเปิดสาเหตุพบแผ่นทางเลื่อนหลุดจากโครงยึดทำให้เกิดช่องว่างขาผู้โดยสารหล่น ติดตั้งเมื่อปี 2530 (36 ปีก่อน) มีรายงานปรับปรุงครั้งใหญ่เปลี่ยนอะไหล่ใหม่ทั้งหมดในปี 2558 แต่ไม่พบหลักฐานการตรวจ และเปลี่ยนแผ่นทางเลื่อน ขณะที่การออกใบรับรองฯโดยวิศวกรเครื่องกลระดับภาคีเท่านั้น ทั้งที่ต้องลงนามโดยวิศวกรเครื่องกลระดับสามัญ จึงไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง เป็นความบกพร่องทั้งผู้รับสัญญาและทอท. …ที่สุ้มเสียงผู้คนในสังคมแสดงความรู้สึกออกมา

ถนนพระราม 2 ยังเสี่ยงตาย…ภาพจำเชิงลบต่อถนนพระราม 2 ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) ที่สร้างแล้วสร้างอีกไม่จบไม่สิ้น “7 ชั่วโคตร” สู่เส้นทางอันตรายจากอุบัติเหตุคานสะพานลอยกลับรถ กม.34 พังทับรถยนต์ระหว่างซ่อมพื้นสะพาน มี
ผู้เสียชีวิต 2 รายและบาดเจ็บ 2 รายในปี 2565 ติดอยู่ในใจประชาชน …ปี 2566 ยังเกิดอุบัติเหตุซ้ำซากจากการก่อสร้างบนถนนสายนี้ ล่าสุด 2 ครั้งร้ายแรงมาจากการก่อสร้างทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ ของ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ทำให้คนงานเสียชีวิตทั้ง 2 ครั้ง (รวม 2 ราย) ปีหน้าฟ้าใหม่ ขอให้ ทล. x กทพ. ยกระดับมาตรการความปลอดภัยในการก่อสร้างเปลี่ยนภาพลักษณ์เรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน

ปฏิรูปรถเมล์ดีขึ้นตรงไหน???…กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมาตั้งแต่ปี 2560 ล่าสุด บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ได้รับใบอนุญาตเดินรถจาก ขบ. ตามแผนปฏิรูป 77 เส้นทางกำลังจะยืนหนึ่งผู้ให้บริการรถเมล์รายใหญ่ที่สุดแทน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ถูกลดบทบาทลง ขณะที่ผู้นำองค์กร ขสมก. อ่อนแอ หน่วยงานอ่อนแรงไม่มีรถใหม่ ๆ ไปแข่งขันประมูล ต้องพ่ายเส้นทางให้เอกชน ผลของการปฏิรูปชัดแค่ชื่อแต่สวนทางกับคุณภาพการบริการที่ประชาชนผู้โดยสารได้รับ ตั้งคำถามต่อเนื่อง เปลี่ยนเลขสายรถเมล์ใหม่สร้างความสับสน……เอกชนไม่เดินรถกะดึกเหมือน ขสมก. ต้องจ่ายค่าโดยสารแพงขึ้นจากการขึ้นรถเมล์หลายต่อ อุบัติเหตุรถชนที่เกิดขึ้นจากบริษัท ไทย สมายล์ บัส บ่อยครั้ง และคุณภาพการบริการที่ถูกวิจารณ์ว่าสู้ ขสมก.ไม่ได้ ผ่อนผันให้เอกชนบรรจุรถในเส้นทางน้อยกว่าเดิม ประชาชนต้องรอนาน ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้สัมปทานเลิกวิ่งกลางคันต้องสั่ง ขสมก. ไปเดินรถแทน…ผ่านไป 6 ปี…2566…ปฏิรูปรถเมล์ดีขึ้นตรงไหนเอ่ย??…ช่วยเฉลยอธิบายที

สะพานข้ามชานชาลาหาย…การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถูกประชาชนโวย ไม่ก่อสร้างสะพาน-ลิฟต์-บันไดเลื่อนข้ามชานชาลา โครงการรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-ชุมพร ให้ตรงปกตามแบบสัญญาก่อสร้างและตั้งงบประมาณไว้กว่า 1.7 พันล้านบาท อาทิ สถานีรถไฟสวนสนประดิพัทธ์ที่อยู่ติดชายทะเล เป็นแหล่งท่องเที่ยว การรถไฟฯ ยอมรับและชี้แจงว่าตามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกำหนดให้มีสะพานลอยและลิฟต์จริงแต่เนื่องจากสถานีรถไฟส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็ก ผู้โดยสารไม่มากวันละไม่เกิน 20 คน จึงตัดออกให้สร้างเป็นทางข้ามเสมอระดับประหยัดงบประมาณของประเทศ โบ๊ะบ๊ะ!! วันเปิดใช้ทางคู่สายใต้ในเดือนนี้ ภาพผู้โดยสารนับร้อยคนต้องเดินวนชานชาลาไกลมากเพื่อข้ามชานชาลาออกจากสถานี ล่าสุดกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เรียกประชุมการรถไฟฯ ให้ก่อสร้างสะพานข้ามชานชาลาเหมือนเดิมเพื่อความสะดวก & ปลอดภัยของผู้โดยสาร…ต้องติดตามให้รฟท.ทำได้ตามวิสัยทัศน์ เป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนปี 2570

รถไฟฟ้าสีชมพูระทึก & สีม่วงสลด…ก่อนคริสต์มาส 1 วัน เช้ามืดวันที่ 24 ธ.ค. รางนำไฟฟ้า (Conductor rail) หรือรางจ่ายไฟ รถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ที่กำลังอยู่ในช่วงทดลองให้ประชาชนใช้บริการฟรี หลุดร่วงกราวรูด 5 กม. ทับรถยนต์และเสาไฟฟ้าบนถนนติวานนท์สุดระทึก ต้องประกาศหยุดเดินรถทั้งเส้นทาง 34.5 กม. รวม 30 นาที เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และกรรมการบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพูยืนยันสาเหตุจากรถเครนผู้รับเหมาดึงชีทไพล์ (เหล็กเข็มพืด)ประมาณ 10 เมตรไปเกี่ยวรางจ่ายไฟจนร่วง ต้องรอหาอะไหล่ตัวยึดรางไฟฟ้าจากทั่วโลก 1,700 ชิ้น เปิดบริการต่อ 23 สถานี ปิด 7 สถานี รอซ่อมรางจ่ายไฟ กระทรวงคมนาคมเลื่อนเก็บค่าโดยสารจากวันที่ 3 ม.ค. ออกไปไม่มีกำหนดเพื่อชดเชยให้ประชาชน วันเดียวกันนี้ในพื้นที่ก่อสร้างสถานีวงเวียนใหญ่ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เกิดอุบัติเหตุเหล็กร่วงทับคนงานเสียชีวิต…ความสดใสของรถไฟฟ้า 2 สี 2 สาย กลายเป็นความหวาดกลัว

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์