กรณี คณะกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) มีมติเห็นควรสอบสวนวินัยร้ายเเรง นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ในคดีสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังดัง ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต นั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ก.ย. มีรายงานว่า ก่อนการลงมติที่เป็นเสียงเอกฉันท์ให้สอบวินัยร้ายเเรง นายเนตร ได้มีกรรมการ ก.อ. อย่างน้อย 3 คน อภิปรายถึงเหตุผลที่ควรตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายเเรงนายเนตร

ทางผู้อภิปรายเห็นว่า เนื่องจากไม่เคยมีระเบียบหรือหนังสือเวียนที่เป็นการกำหนดการดำเนินการสั่งคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรมไว้อย่างชัดแจ้ง มีเพียงระเบียบการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548 ข้อ 48 ก็กำหนดเพียงวิธีการสั่งคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม เมื่อมีพิจารณาคำร้องร้องขอความเป็นธรรมพนักงาน อัยการก็จะสั่ง 1. สอบสวนเพิ่มเติม หรือ 2. สั่งยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรม กรณีที่เห็นว่ามีเหตุอันควรสั่งสอบสวนเพิ่มเติมตามที่ร้องขอความเป็นธรรมก็ดำเนินการไป แต่กรณีที่พนักงานอัยการ เห็นว่า เป็นการร้องขอความเป็นธรรมซ้ำซ้อนในประเด็นเดิมที่มีพิจารณาไปแล้ว หรือปราศจากพยานหลักฐานใหม่ ก็จะพิจารณาว่าการร้องขอความเป็นธรรมลักษณะนี้เป็นไปเพื่อประวิงคดีให้ล่าช้า พนักงานอัยการก็จะสั่งยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรม

เมื่อมาพิจารณาการดำเนินการของนายเนตร ในการสั่งสำนวน ส. 1 ซึ่งร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาถึง 14 ครั้ง อัยการสูงสุดถึง 2 ท่าน สั่งยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมไปแล้ว พยานหลักฐานที่ร้องขอความเป็นธรรมครั้งที่ 14 ก็เป็นพยานหลักฐานเดิม ที่ปรากฏอยู่แล้วในสำนวน ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่แต่อย่างใด การที่ นายเนตร เลือกรับฟังข้อเท็จจริงในประเด็นความเร็วของรถยนต์จากคำให้การของพยานทั้งสองปาก ทั้งๆ ที่ยังมีความเห็นแตกต่างในประเด็นความเร็วรถ โดยไม่สอบสวนเพิ่มเติมให้ได้ข้อยุติชัดเจน พร้อมทั้งกลับคำสั่งเป็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา เป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ ขัดต่อ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการฯ การสั่งคดีของนายเนตร จึงเป็นความผิดฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง เป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ มาตรา 64 เเละถือเป็นการประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ หรือปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ มาตรา 85

อย่างไรก็ตาม เห็นควรตั้งเป็นข้อสังเกตว่า การพิจารณาการใช้ดุลพินิจของ นายเนตร ในครั้งนี้ไม่ควรถูกหยิบยกมาอ้างอิงความเป็นอิสระในการสั่งคดีของพนักงานอัยการโดยทั่วไป ความมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีจะต้องอยู่ในกรอบของความเที่ยงธรรมด้วยมิฉะนั้นจะข้ามเส้นแบ่งกลายเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ สำนวน ของสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้คดี นายวรยุทธ กล่าวได้ว่า มีลักษณะเป็น Exceptional Case ซึ่งมีความไม่ชอบมาพากลนับครั้งไม่ถ้วนนับ แต่เริ่มกระบวนการสอบสวนมีความพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหามาโดยตลอด นายเนตร เป็นผู้มีประสบการณ์สูงในการดำเนินคดีอาญา ย่อมต้องทราบดีว่าพยานหลักฐานที่เลือกรับฟังมีความน่าสงสัยเป็นอย่างมาก

แม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานที่ชัดเจนว่ามีเรียกรับผลประโยชน์ในทางมิชอบ ก็เป็นเพราะไม่มีอำนาจตรวจสอบเส้นทางการเงินและปราศจากผู้กล่าวหา แต่ได้ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงต่อการใช้ดุลพินิจดังกล่าวต่อสังคม กระทบถึงองค์กรอัยการและกระบวนการยุติธรรม “เสียหาย” ดังนั้นย่อมแสดงให้เห็นเด่นชัดว่า การสั่งไม่ฟ้องของนายเนตร เป็นการเสียหายแก่ทางราชการอย่างยิ่ง และทำให้ภาพลักษณ์องค์กรเสียหายอย่างร้ายแรง ดังนั้นการที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความเห็นว่าการกระทำของนายเนตร เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง จึงไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

หลังจากนั้น นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธาน ก.อ. ก็ให้มีลงมติเปิดเผยโดยการยกมือ ผลปรากฏเป็นเอกฉันท์ 9 เสียง เเละตั้ง นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานกรรมการสอบวินัยร้ายแรง ต่อไป