ที่ห้องประชุมน้อมเกล้า พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวต้อนรับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) อาจารย์ และนักศึกษาจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ขอเข้าพบและร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่างที่นักศึกษาไปฝึกงานเรียนรู้ประสบการณ์ที่ประเทศอิสราเอล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี กล่าวถึงการฝึกงานเรียนรู้ประสบการณ์ที่ประเทศอิสราเอล ว่า เป็นวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ ที่มองว่าการเรียนเกษตรนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปฏิบัติงานที่ต้องเปิดโลกทัศน์ให้กับนักศึกษา โดยเฉพาะทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยเด็กต้องได้สัมผัสชีวิตในต่างประเทศ จึงเป็นที่มาของการร่วม MOU กับศูนย์ฝึกอบรมการเกษตรนานาชาติ เขตอนาวา ประเทศอิสราเอล ผ่านทางสถานทูต จากนั้นได้ส่งนักศึกษาไปฝึกงานรุ่นแรก จำนวน 10 คน ในปี 2559 เป็นเวลา 11 เดือน โดยปัจจุบันส่งนักศึกษาไปฝึกงานแล้ว จำนวน 4 รุ่น และในเดือนตุลาคม 2564 นี้ จะส่งนักศึกษาของรุ่นที่ 5 เพื่อเดินทางไปฝึกงานที่ประเทศอิสราเอล และจากการจัดส่งนักศึกษาไปฝึกงานนั้น นักศึกษาในแต่ละรุ่นได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยกลับมาปรับปรุงพัฒนา โดยผ่านงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ ล่าสุดมีการวิจัยพืชอินทผาลัม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศในโลกอาหรับหรือกลุ่มประเทศอิสลามที่เป็นพืชเศรษฐกิจ มาศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยต่อยอดความรู้จากที่ได้รับจากการไปฝึกงาน
ด้านนายฮัมเซาะ นาแว นักศึกษาปี 4 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ไปประเทศอิสราเอลว่า ได้เรียนรู้เรื่องการทำการเกษตรในสภาพอากาศที่แตกต่างจากบ้านเรา ซึ่งความรู้ที่ได้นำกลับมาใช้เป็นเรื่องของระบบน้ำหยดที่ช่วยให้ประหยัดน้ำได้มากกว่าการรดด้วยบัว และยังมีเทคนิคการปลูกมะเขือเทศด้วยการมัดเชือกเพื่อให้ต้นมันเลื้อยขึ้นไปซึ่งทำให้ได้ผลิตที่สะอาด สวย และปริมาณที่มาก อีกทั้งยังได้เทคนิคการตลาดจากการปลูกด้วยระบบออร์แกนิก ซึ่งทำให้ผลผลิตมีคุณภาพสูงและได้ราคา และในโอกาสนี้พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้ให้ข้อคิดกับนักศึกษาทุกคนในการดำเนินชีวิตหลังจากนี้ว่า ขอให้ทุกคนนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะข้อคิดที่ได้จากการฝึกงานซึ่งประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่มีแต่ทะเลทราย อากาศร้อนและเย็นสลับกัน แต่ยังสามารถทำการเพาะปลูกได้ ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมทุกอย่างเหมาะแก่การเพาะปลูกเราก็น่าจะทำได้เช่นกัน จึงขอให้ทุกคนนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาปรับเปลี่ยนในการจัดทำการเกษตรในระดับพื้นที่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นตลอดจนเป็นต้นแบบได้
พร้อมกันนี้ เลขาธิการ ศอ.บต. ได้ขอบคุณผู้บริหารมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ ที่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนในพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ กล้าคิด กล้าแสดงออก ตลอดจนร่วมต่อยอดไปกับนักศึกษาเพื่อนำความรู้ไปปรับใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อีกด้วย